ประเทศไทยเร่งขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมีหน่วยงานระดับชาติอย่างสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบาย อววน.) เป็นผู้กำหนดทิศทาง ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงานในระดับปฏิบัติ
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการเตรียมรับมือกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่งส่งผลต่อแรงงาน เศรษฐกิจ และภาระด้านสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงถูกวางเป็นกลยุทธ์หลักในการตอบโจทย์ระยะยาว
เทคโนโลยีที่ถูกระบุว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาในระยะ 10–20 ปีข้างหน้า ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควอนตัมคอมพิวติง (QT) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 4.0 (D4) ระบบขนส่งพลังงานไฟฟ้า (EV) เทคโนโลยีสุขภาพขั้นสูง (HT) พลังงานสะอาด (CE) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (RB) เทคโนโลยีรับมือภูมิอากาศ (CC) เศรษฐกิจอวกาศ (SE) และเทคโนโลยีประสาท (NT) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกัน แนวโน้มสำคัญของระบบการแพทย์ในอนาคตยังเน้นการพัฒนายาใหม่ที่มีความจำเพาะสูงโดยเฉพาะกลุ่มยา Biologics เป็นการรักษาด้วยเซลล์และเนื้อเยื่อเพื่อฟื้นฟูอวัยวะ และการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะที่จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างร่างกายมนุษย์กับเทคโนโลยี
การปฏิรูประบบสุขภาพของไทยจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การรักษา แต่ครอบคลุมถึงการวางรากฐานโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยเน้นการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่ทันสมัย เข้าถึงได้ และยั่งยืนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
Link : www.tsri.or.th