คู่มือการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

          นโยบายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate : Smart IE) และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Zone : Smart IZ) โดยส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งจะมีผลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน  

           อีกทั้งสามารถร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานสะอาด และประหยัดพลังงานรวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วยไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ด้วย สำหรับผู้สนใจลงทุนในประเทศไทยที่ประสงค์ได้สิทธิประโยชน์หลายด้าน คู่มือฉบับนี้จะนำไปสู่หนทางการลงทุนได้ ทั้งนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนรายเดิมที่ต้องการขยายกิจการให้มีมูลค่า และผลกำไรเพิ่มขึ้น

สำหรับระบบอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. Smart Facilities คือ การนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมมาใช้ติดตาม ควบคุม บริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำฝน และระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ระบบการติดตามตรวจสอบมลพิษ หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม และระบบถนน

2. Smart IT คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง 

3. Smart Energy คือ การใช้พลังงานโดยมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low carbon industry)

4. Smart Economy คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักการของ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy)

5. Smart Good Corporate Governance คือ การพัฒนากำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบรรษัทภิบาล (Good corporate governance) โดยมีการสื่อสาร และเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอกเป็นไปอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน ทันเวลา และใช้ช่องทางที่เหมาะสม

6. Smart Living คือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) ให้ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต 

7.Smart Workforce คือ การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพของแรงงานเข้าสู่ 4.0 และยกระดับคุณภาพของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม


การประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมมี 4 ลักษณะดังนี้

1. การประกอบอุตสาหกรรม

2. การประกอบการบริการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป

3. การประกอบพาณิชยกรรมในเขตประกอบการเสรี

4. การประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการในนิคมอุตสาหกรรม


เงื่อนไขกิจการนิคม หรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และกิจการพัฒนาระบบอัจฉริยะ 

1. มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน

2. จัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน คือ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่น ๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน ดังนี้ Smart Good Corporate Governance, Smart Living, Smart Workforce 

3. ได้รับความเห็นชอบแผนการพัฒนาเป็นนิคม หรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะจากคณะกรรมการร่วมระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน

4. มีที่ดินไม่น้อยกว่า 250 ไร่

5. ที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงานต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และไม่เกินร้อยละ 75 ของพื้นที่ทั้งหมด ยกเว้นมีที่ดินทั้งหมดเกิน 1,000 ไร่ ให้กำหนดตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

6. เงื่อนไขอื่นทั้งกรณีเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือจัดให้มี ดังนี้ 

6.1 มาตรฐานของถนนหลักตามเกณฑ์กำหนด

6.2 มาตรฐานของถนนสายรองตามเกณฑ์กำหนด  

6.3 มีระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานน้ำทิ้งตามที่กฎหมายกำหนด  

6.4 ระบบระบายน้ำเสียแยกจากระบบระบายน้ำฝนโดยเด็ดขาด 

6.5 ต้องจัดให้มีที่รวบรวม จัดเก็บ และกำจัดขยะที่เหมาะสมตามคณะกรรมการเห็นชอบ 

6.6 โรงงานที่เข้าใช้พื้นที่ต้องเป็นโรงงานตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมต้องห้ามต้องที่ผ่านเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการ หรือผู้ชำนาญการกำหนด 

6.7 มีบริการสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำใช้ โทรศัพท์ และไปรษณีย์) ในเขตอุตสาหกรรมใช้ได้เพียงพอ

6.8 ต้องจัดปรับปรุงที่ดินประมาณร้อยละ 25 ของที่ดินทั้งหมด ให้มีความพร้อมด้านบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกบัตรส่งเสริม

7. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนภายใน 5 ปี นับจากวันมีรายได้ครั้งแรกของโครงการ 

สิทธิและประโยชน์ 

1. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียน 

3. หากตั้งอยู่ใน EEC ได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 และร้อยละ 100 ของเงินลงทุน ซึ่งไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง กรณีจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 3 และ 5 ด้านตามลำดับ โดยให้นับ จากวันที่มีรายได้หลังรับบัตรส่งเสริม (กรณีโครงการเดิมสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือไม่เคยได้รับการส่งเสริมการลงทุน)

สิทธิประโยชน์ไม่เกี่ยวกับภาษี

1. สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม

2. นำเข้าช่างฝีมือผู้ชาญการต่างชาติมาทำงานในไทยได้

3. คู่สมรส และบุคคลในอุปการะเข้ามาอยู่ในไทยได้

4. สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากบีโอไอในกรณีขอรับการส่งเสริมการลงทุน


วิธีการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเเละประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม 

1. การตรวจสอบกับหลักเกณฑ์ของ กนอ.

1.1 พิจารณาแปลงที่ดิน และเนื้อที่ให้ถูกต้องตามผังแม่บท (Master Plan) กรณีเนื้อที่เปลี่ยนแปลงให้ยึดถือตามโฉนดที่ดินแปลงนั้น ๆ โดย มีเกณฑ์ในการพิจารณาผังแม่บท/ผังจัดสรร

      - การขออนุญาตใช้ที่ดินให้ใช้ผังแม่บทในการพิจารณาอนุญาต

      - กรณีเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมตั้งขึ้นใหม่ และขั้นตอนการจัดสรรยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อมีผู้ประกอบการยื่นคำขอใช้ที่ดินเข้ามา ผู้พัฒนานิคมฯ ต้องชี้แจง และยืนยันการดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคว่าแล้วเสร็จเมื่อใด โดยแผนงานต้องแล้วเสร็จก่อนที่ผู้ประกอบการจะแจ้งเริ่มประกอบกิจการ

2. พิจารณาความต้องการระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคที่รองรับ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เป็นต้น

3. พิจารณาประเภทการประกอบกิจการให้ตรงตามผังแม่บท เช่น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตประกอบการเสรี

4. พิจารณามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นได้จากการประกอบกิจการ เช่น โรงงานต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย และอากาศ

5. พิจารณาการประกอบกิจการกับพื้นที่รอบข้างต้องไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน

6. พิจารณาการประกอบกิจการของบริษัทให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้รับอนุญาต

7. พิจารณารายละเอียดของการประกอบกิจการ และรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ และอยู่ภายใต้รายละเอียดวัตถุประสงค์ของ
บริษัทฯ

8. การดำเนินงานตามคู่มือจะเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารครบถ้วนโดยจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ


รายการเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ

1. บัตรประจำตัวประชาชน กรณีบุคคลธรรมดา

2. สำเนาทะเบียนบ้าน กรณีต้องทํานิติกรรมกับ กนอ. ในฐานะบุคคลธรรมดา

3. หนังสือรับรองนิติบุคคล พร้อมรายละเอียดวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ (มีอายุไม่เกิน 6 เดือน) และมีการลงนามรับรองสําเนา ถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอํานาจลงนามพร้อมตราประทับบริษัทฯ ตามหนังสือรับรองฯหรือผู้รับมอบอํานาจตามหนังสืมอบอำนาจ)

4. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) อายุไม่เกิน 6 เดือน รับรองสําเนาถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอํานาจลงนามพร้อมตราประทับบริษัทฯ

5. ผังแม่บท (พร้อมระบุแปลงที่ดินที่ประสงค์ขอใช้)

6. สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงการ

7. มีสิทธิเข้าใช้ที่ดิน เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย, สัญญาเช่า

8. รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA/EHIA (ถ้าเข้าข่าย)

9. เอกสารเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต

10. เอกสารอื่นสำคัญเพิ่มเติมตามเจ้าหน้าที่กำหนด 


การยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการการอนุญาตให้ใช้ที่ดินประกอบนิคมอุตสาหกรรม 

1.สำนักงานใหญ่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ใน กทม. หรือสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมที่โรงงานตั้งอยู่ และช่องทางออนไลน์ : https://epp-ent.ieat.go.th/epp/ (Permission and Privilege หรือ e-PP)

2.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

● ผ่านระบบการยื่นคำขอ Online : www.boi.go.th ระบบ E-Investment สำหรับคำขอตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนปกติ

● ยื่นเป็นเอกสารที่สำนักงาน/ระบบงานรับส่งเอกสารออนไลน์ (E-Submission) สำหรับมาตรการหรือนโยบายพิเศษต่าง ๆ 

● One Start One Stop Investment Center : OSOS

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 555
เบอร์โทรศัพท์ : 02-553-8111


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,248,795