กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งไทยระยะ 20 ปี เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นต่าง ๆ ของประเทศ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบไปด้วยแพร่ พะเยา เชียงราย และในพื้นที่จังหวัดลำปาง
โครงการ “รถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ” จึงนับเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางระบบขนส่งทางรางสายใหม่ ที่จะเชื่อมการขนส่งกับแหล่งเกษตรกรรม โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตรแบบควบคุมอุณหภูมิไปยัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน
“รถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ” มีระยะทางรวม 323.10 กม. ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พะยา ลำปาง ลำปาง) ใน 17 อำเภอ 59 ตำบล มีสถานี และที่หยุดรถไฟรวม 26 แห่ง
มีย่านกองเก็บ และขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 4 แห่ง ที่สถานีแพร่ สถานีพะเยา สถานีป่าแดด และสถานีเชียงราย และมีลานกองเก็บตู้
สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่เชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ 1 แห่ง
การก่อสร้างโครงการ จะมีการขุดอุโมงค์ โดยอุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 อุโมงค์ในโครงการ มีความยาวของอุโมงค์ 2,700 เมตร (รวมสองฝั่ง 5,400 เมตร) ในพื้นที่สัญญา ช่วงงาว - เชียงราย ปัจจุบันได้ขุดเจาะไปแล้วประมาณ 42-44 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาขุดเจาะประมาณ 4 ปี ขณะที่อุโมงค์ที่ยาวที่สุดของโครงการจะมีความยาว 6.2 กม. อยู่ที่ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
ความคืบหน้าโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ได้มากกว่าร้อยละ 50 และส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
กระทรวงคมนาคมได้ตั้งเป้าหมายให้โครงการ “รถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ” ได้กลายเป็น Logistic Hub ของภูมิภาค ที่เชื่อมโยงการเดินทาง และเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทย – ลาว - จีน ตามระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ - ใต้ (North - South Economic Cooridor :NSEC) ส่งเสริมการท่องเที่ยว การจ้างงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
แหล่งที่มา : สำนักงานปลัด กระทรวงคมนาคม
38 ถนนราชดำเนินนอก แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
เบอร์ติดต่อ :0 2283 3000
ข้อมูลเพิ่มเติม