ส่องเทคโนโลยี 5G ดันเศรษฐกิจไทยเติบโตจากการลงทุนของนักธุรกิจ

การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในปัจจุบัน

     การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายไร้สายยุคที่มีประสิทธิภาพการเชื่อมต่อ ทั้งในแง่ของปริมาณ และความเร็วที่ดีมากขึ้นกว่าเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายในยุคที่ 4 (4G) โดยพิจารณาได้จากประสิทธิภาพในเรื่องความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล มากกว่า 4G ราว ๆ 20 เท่า และยังสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายขนาดใหญ่ ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นับล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรได้ ตลอดจนมีค่าความหน่วงต่ำซึ่งจะดีเลย์ไม่เกิน 1/1,000 วินาที หรือเร็วกว่าการกะพริบตาถึง 400 เท่า 

     จากข้อดีเหล่านี้ทำให้เทคโนโลยี 5G ตอบโจทย์กับภาคธุรกิจในยุคปัจจุบันซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นสำคัญ บริษัทขนาดใหญ่ของโลกล้วน
แต่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้ธุรกิจเกิดการยกระดับทั้งด้านการพัฒนาสินค้าและการบริการของตัวเอง

สำหรับแวดวงธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เป็นอย่างมาก อาทิ 

1. สื่อบันเทิง (Media and Entertainment) เพราะสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์ รวมทั้งสื่อบันเทิงความคมชัดสูงในระดับ 4K ได้ในเวลาไม่กี่วินาที
แม้จะใช้ในช่วงที่มีผู้ใช้บริการพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งผู้รับบริการสามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังสามารถใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย

2. การผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเชื่อมต่อแบบไร้สายกับอุปกรณ์ และเครื่องจักร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการสั่งการจากระยะไกล หรือระบบสั่งงานอัตโนมัติ รวมทั้งยังนำมาใช้ประยุกต์ใช้กับการจัดการคลังสินค้า และโลจิสติกส์ รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ทำให้ผู้ซื้อเสมือนได้เลือก และลองสินค้าที่ร้าน หรือภาคการเกษตรก็มีการนำเทคโนโลยี 5G เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

3. ระบบสาธารณสุข (Healthcare) ก็มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้กับอุปกรณ์สวมใส่ติดตามตัว (Wearable devices และ Internet of Medical Things : IoMT) สำหรับเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอดเวลา รวมถึงนำมาใช้วางแผนการรักษาให้ได้ผลแม่นยำมากยิ่งขึ้น หรือกรณีนำหุ่นยนต์ใช้ ในการผ่าตัดโดยอาศัยโครงข่ายการ 5G  เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถตอบสนองต่อคำสั่งในการรักษาได้ทันที แม้ผู้ป่วยจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนำมาใช้ในการบริหารจัดการในโรงพยาบาลเพื่อให้บริการทางการแพทย์เกิดประสิทธิภาพ 

4. ระบบสาธารณูปโภค (Utility) มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) และมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart meter)
เพื่อบริหารจัดการการจ่ายไฟฟ้าซึ่งระบบจะส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าไปประมวลผลเพื่อวางแผนการผลิต และจ่ายไฟให้เพียงพอรวมถึงการคิดราคาไฟฟ้าให้เหมาะสม 

5. ด้านระบบคมนาคมขนส่ง (Transportation and Logistics) เทคโนโลยี 5G ได้เข้ามาช่วยในการขับขี่ยานพาหนะที่ถูกพัฒนาขึ้น ใช้กับการคมนาคมขนส่ง เช่น รถยนต์ไร้คนขับที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะกับระบบควบคุมการจราจร รวมทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในยานพาหนะประเภทอื่น ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถโดยสารสาธารณะ และรถแท็กซี่

6. ระบบการจัดการเมือง มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้โดยเฉพาะเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งมีระบบย่อย ๆ จำนวนมาก แต่เทคโนโลยีนี้ก็สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับโครงข่าย เพื่อรับส่งข้อมูล รวบรวม และวิเคราะห์ประมวลผลโดยอัตโนมัติ เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการเพื่อป้องกันน้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่น ๆ การจัดการขยะ การจัดการสาธารณูปโภค และการจัดการด้านการ รักษาความปลอดภัย การจัดการจราจร
และการจัดการพื้นที่จอดรถ ก็นับเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี 5G ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิต ประจำวันของผู้คน และภาคธุรกิจที่เห็นโอกาสจากการใช้ความทันสมัยของเทคโนโลยี

ที่มา: คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เบอร์โทรศัพท์: +66 2670 8888


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,245,565