ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

     ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงและเข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบัน โดยทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเร่งพัฒนานโยบาย วางมาตรฐาน และหลักธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance เพื่อเป็นกรอบหรือทิศทางในการประยุกต์ใช้งาน AI ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ  เป็นไปตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล

     การพัฒนาบริการดิจิทัล และธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (Digital Service and AI Governance) โดยเฉพาะในเรื่องของ AI Governance ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ และถูกบรรจุอยู่ใน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ” นับเป็นการผลักดันในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ และยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาว  

     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะเจ้าภาพ ได้ดำเนินงานทั้งในมุมของการส่งเสริมและการดูแลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI มาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การต่อยอดเปิดตัว “ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC)” ให้เป็นแหล่งรวมความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์จากประเทศชั้นนำทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีธรรมาภิบาลร่วมกัน

     ศูนย์ AIGC ดำเนินงานโดยการขับเคลื่อนใน 4 มิติด้วยกัน ได้แก่ 

  1. มิติที่ 1 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับแนวนโยบายในระดับสากล 
  2. มิติที่ 2 การให้คำปรึกษาด้านนโยบายธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้งาน AI สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ทุกภาคส่วน 
  3. มิติที่ 3 การพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ ผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล
  4. มิติที่ 4 สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ นวัตกรรมเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance

     ในระยะแรก AIGC จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้งาน และช่วยในกระบวนวินิจฉัย คัดกรอง และการรักษาผู้ป่วยของแพทย์อย่างแพร่หลายมากขึ้น และเพื่อป้องกันผลกระทบ ตลอดจนความเสี่ยงจากการใช้งานเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 33/4 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 

เบอร์ติดต่อ : 0 2123 1234

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,453