“ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ศูนย์การเรียนรู้ ICT จากความเหลื่อมล้ำ สู่โอกาสและความยั่งยืน

     ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเกิดขึ้นมานานและเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะท้อนถึงความแตกต่างในการเข้าถึงชีวิตที่มีคุณภาพ ดังนั้นในโลกแห่งเทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อช่วยให้ประชาชน และเยาวชนมีทักษะและความรู้ด้านข้อมูลข่าวสาร เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน

     “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ก่อตั้งโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล  ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่  มีโอกาสในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเชื่อมโลกที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  โดยส่วนใหญ่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าถึง และมีความสะดวก เช่น วัด มัสยิด ที่ทำการหมู่บ้าน สหกรณ์ องค์กรปกครองส่งท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ค่ายทหาร ฯลฯ  

     ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ไปแล้ว 2,281 แห่ง และมีจิตอาสากว่า 2,000 คน ที่ร่วมเป็นกลไกสำคัญในการทำงานในระดับพื้นที่  ทำให้งานที่เป็นนโยบายของภาครัฐเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชีวิตของประชาชน  เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศจนได้รับรางวัลระดับ Asia - Pacific

     ปัจจุบันมีการผลักดันให้ “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” พัฒนาต่อยอดเป็น “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” โดยเน้นการให้บริการและแนะนำการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ การทำงานเชิงรุกด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของประชาชน การเพิ่มรายได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การขายสินค้าออนไลน์, ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชน, การรับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงการสร้างงานลักษณะใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล  

     ทั้งนี้ “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ยังคงเดินหน้าสร้างเครือข่ายพัฒนา โดยร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้คนไทยมากกว่าร้อยละ 90 สามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยตามแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  

แหล่งที่มา : สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 120 หมู่ 3 ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
เบอร์ติดต่อ : 0 2024 1999

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,451