"ยุทธศาสตร์ฟ้าใส" แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 3 ประเทศ

     วิกฤตมลพิษ จากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ลุกลามทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ และไม่ใช่เพียงผลกระทบภายในประเทศ แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางออก  

     โดยประเทศไทย ประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย - สปป.ลาว - เมียนมา เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการติดตามสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค และแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

     โดยฝ่ายไทยได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้น  ประกอบด้วย

  1. C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อน ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 ซึ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศได้รับรองร่วมกันเมื่อปี 2560
  2. L (Leveraging Mechanisms) ใช้ประโยชน์จากกลไกที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ซึ่งไทยจะเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำประเด็นดังกล่าวหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ประเทศอินโดนีเซีย 
  3. E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
  4. A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย การวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ และการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที
  5. R (Effective Response) ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศ ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการมลพิษหมอกควันข้ามแดน หารือร่วมกันเพื่อต่อยอดผลของการประชุม 
  6. ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

     ทั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศ ตกลงร่วมกันที่จะร่วมกันขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยประเทศไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูง ต่อลาว และเมียนมา  

 

ข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย. 2566

แหล่งที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ

เลขที่ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานครฯ 10400 

เบอร์ติดต่อ : 0 2203 5000

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,253,385