หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (PCT)

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (PCT) มีหลักเกณฑ์ที่ผู้ยื่นจะต้องศึกษา ดังนี้

     1. การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ 
               1.1 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ 
               1.2 เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น
               1.3 เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม 
               1.4 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ นี้ 
                    1. จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารกัดจากสัตว์ หรือพืช
                    2. กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
                    3. ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
                    4. วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
                    5. การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือสวัสดิภาพของประชาชน

นอกจากนี้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศต้องมีรายละเอียดประกอบคำขอ ดังนี้ 

        1. แบบพิมพ์คำขอ [แบบสป/อสป/001-ก (PCT)] 
        2. รายละเอียดการประดิษฐ์ ต้องบรรยายรายละเอียด ที่มีข้อความสมบูรณ์ รัดกุม และชัดแจ้งอันจะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องสามารถทำและปฏิบัติตามการประดิษฐ์นั้นได้ ดังนี้ 
              - ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ 
              - ระบุสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
              - ภูมิหลังของศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้เข้าใจการประดิษฐ์นั้นดีขึ้นและเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ 
              - อธิบายลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
              - เปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
              - อธิบายรูปเขียนแต่ละรูปโดยย่อ 
              - วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
     3. ข้อถือสิทธิ ต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรประสงค์จะขอความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ รัดกุม และ ชัดแจ้ง รวมทั้งต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์
     4. รูปเขียน (ถ้ามี) ต้องชัดแจ้ง สอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์และเป็นไปตามหลักวิชาการเขียนแบบ และให้หมายความรวมถึงแผนภูมิและแผนผังด้วย
     5. บทสรุปการประดิษฐ์ ต้องสรุปสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผย หรือแสดงไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และรูปเขียน (ถ้ามี) โดยต้องระบุลักษณะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์โดยย่อ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงปัญหาทางเทคนิค ตลอดจนการแก้ปัญหาโดยการประดิษฐ์และการใช้การประดิษฐ์นั้น
     6. รายการอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 21 
     7. เอกสารประกอบคำขอ ตามที่ระบุในข้อ 8 ของ [แบบสป/อสป/001-ก (PCT)]

ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,726