ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้าทางเรือ

     สำหรับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางเรือ สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า TCS โดยทำการลงทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลของระบบ และจัดเตรียมเอกสารเพื่อปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการนำเข้าสินค้า โดยขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้าทางเรือมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

     1. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนจัดเตรียมข้อมูลใบขนสินค้าเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองหรือผ่าน Service Counter และให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนส่งข้อมูลใบขนสินค้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลกับแฟ้มข้อมูลอ้างอิง การอนุมัติ/อนุญาต ที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบบัญชีสินค้าสำหรับเรือโดยอัตโนมัติผ่านระบบคอมพิวเตอร์
     2. การตรวจปล่อยสินค้าจะนำระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาใช้ในการสั่งการตรวจตามเงื่อนไขที่หน่วยงานศุลกากรกำหนดไว้ในระบบ Profile เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ ให้เปิดตรวจ (Red Line) หรือให้ยกเว้นการตรวจ (Green Line) เมื่อระบบตรวจสอบเสร็จแล้วจะกำหนดเลขที่ใบขนสินค้า และสั่งการตรวจให้อัตโนมัติ พร้อมกับแจ้งตอบกลับไปยังผู้ประกอบการทราบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และแจ้งโรงพักสินค้า หรือท่าเทียบเรือทราบถึงผลการสั่งการตรวจจากศุลกากร
          - กรณียกเว้นการตรวจ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อโรงพักสินค้า หรือท่าเทียบเรือรับมอบสินค้าได้ทันที
          - กรณีให้เปิดตรวจ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อโรงพักสินค้าหรือท่าเทียบเรือเพื่อเตรียมของเพื่อตรวจแล้วติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า
          - การชำระและวางเงินประกันค่าภาษีอากร ผู้ประกอบการสามารถเลือกชำระและวางเงินประกันที่สำนักงานศุลกากร หรือชำระ และวางเงินประกันผ่านธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ได้
          - การวางค้ำประกันค่าภาษีอากร ผู้ประกอบการสามารถเลือกวางค้ำประกันที่สำนักงานศุลกากร หรือวางค้ำประกันผ่านธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) ได้
          - การตรวจปล่อยสินค้าขาเข้า เป็นการตรวจ ณ ท่าที่ระบุในบัญชีสินค้าว่ามีชื่อส่งของถึง แต่ผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์ขอขนย้ายสินค้าไปตรวจปล่อยนอกเขตท่าที่นำเข้าได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าในขั้นตอนจัดเตรียมใบขนสินค้าก่อนส่งมายังระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
     3. ผู้นำของเข้านำใบขนสินค้าพร้อมใบเสร็จเสียภาษีอากร เอกสาร Deliver Order (D/O) ไปดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าในท่าเรือ และขนถ่ายสินค้านำเข้ามาที่โกดัง โรงงาน หรือบริษัท
     4. ผู้นำเข้า หรือตัวแทนต้องจัดเก็บข้อมูลบัญชีราคาสินค้าในรูปของสื่อคอมพิวเตอร์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบใบขนสินค้าหลังการตรวจปล่อย โดยให้สามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเมื่อกรมศุลกากรร้องขอ ดังนี้
          - IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY DECLARATION ITEM
          - IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY INVOICE ITEM
          - IMPORT/EXPORT INVOICE LIST

ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ที่มา : สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) 
โทร. 0 3840 7701 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,755