ขั้นตอนการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

     ในอดีตการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนเป็นเรื่องยาก เพราะการไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจบทบัญญัติของกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพที่พึงมีพึงได้โดยชอบธรรม ทำให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกล่วงละเมิดจากบุคคลที่อยู่ในภาวะที่เหนือกว่า นอกจากนี้ ความยากจนยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการดำเนินคดีมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น เพื่อลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ คนยากจน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จึงได้จัดตั้ง    "กองทุนยุติธรรม" ขึ้น

ภารกิจหลักของกองทุนยุติธรรมในการช่วยเหลือประชาชน

  1. การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี
  2. การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
  3. การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
  4. การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

     หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม   พ.ศ. 2558 ตามประเภทคำขอ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ฐานะของผู้ที่จะได้รับ

     ความช่วยเหลือจากกองทุน ตลอดจนโอกาสของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนจะได้รับความช่วยเหลือ หรือบรรเทาความเสียหายตามกฎหมายอื่น

ขั้นตอนการพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือของกองทุน

     1. ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร การรับคำขอและการตรวจสอบเบื้องต้น (เริ่มนับระยะเวลาเมื่อได้รับเอกสารถูกต้อง ครบถ้วน) ใช้เวลา 1 วัน
     2. การแสวงหาข้อเท็จจริง และทำความเห็น ใช้เวลา 7 วัน 
     3. เสนอเพื่อพิจารณากรณีเร่งด่วน/ เสนอคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือฯ และคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดเพื่อพิจารณา ใช้เวลา 10 วัน
     4. แจ้งผลการพิจารณา ใช้เวลา 3 วัน

ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ

ปัจจุบันสำนักงานกองทุนยุติธรรม มีการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
     1. โทรศัพท์ 0 2502 6318
     2. เว็บไซด์สำนักงานกองทุนยุติธรรม (jfo.moj.go.th)  หรือผ่าน application justice fund
     3. ติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง ได้ที่
          - กทม. ติดต่อได้ที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม
          - ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั้ง 78 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานยุติธรรมจังหวัด 76 จังหวัด และอีก 2 สาขา ประกอบด้วย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตาก สาขาแม่สอด และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี 
          - ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม  

ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
โทร. 0 2612 6060


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,246,122