การนำของเข้าโดยบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

      การยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับ “สินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า” ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตอาจแบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ การยกเว้น การลดหย่อน การลดอัตรา และการคืนภาษี 

      โดยสินค้าที่จะได้รับยกเว้นภาษีในกรณีนี้จะต้องพิจารณาจาก “ของที่ได้รับยกเว้นอากร” ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรภาค 4 ซึ่งจะต้องเป็นของที่ได้รับการยกเว้นอากรตามความในภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 19 ประเภทเท่านั้น โดยหนึ่งในเหตุที่จะได้รับการยกเว้นภาษี คือ การนำของเข้าโดยบุคคลที่ได้รับเอกสิทธิ์

      “ของที่ได้รับเอกสิทธิ์” หมายถึง ของที่ได้รับเอกสิทธิ์ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญากับนานาประเทศ หรือทางการทูต ซี่งได้ปฏิบัติต่อกันโดยอัธยาศัยไมตรีซี่งการนำเข้าของเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นอากร

ในการนำเข้าของเอกสิทธิ์จะต้องเตรียมเอกสารดังนี้  

1. เอกสารทั่วไปที่ใช้ในการผ่านพิธีการ

  • ใบขนสินค้าขาเข้า
  • บัญชีราคาสินค้า
  • ใบตราส่งสินค้า
  • ใบสั่งปล่อย 

2. เอกสารที่ใช้เพิ่มเติมกรณีขอยกเว้นอากรของเอกสิทธิ์

  • หนังสือขอยกเว้นอากรของกระทรวงการต่างประเทศพร้อมแบบฟอร์ม D.P.I. (ENTRY FORM FOR DIPLOMATIC CLEARANCE OF GOODS IMPORTED BY DIPLOMATIC MISSIONS INTERNATIONAL ORGANIZTIONS) ที่ออกให้โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กรณีของที่ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูต และข้อผูกพันกับองค์การสหประชาชาติ)
  • สัญญาความตกลงช่วยเหลือระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ฉบับสมบูรณ์ (กรณีของที่นำเข้าตามโครงการความช่วยเหลือที่ไม่ผ่านกรมวิเทศสหการ)
  • หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรับรองว่าสัญญาความตกลงช่วยเหลือ (กรณีของที่นำเข้าตามโครงการความช่วยเหลือที่ไม่ผ่านกรมวิเทศสหการ)
  • ผลการพิจารณาให้ยกเว้นอากร (กรณีของที่นำเข้าตามโครงการความช่วยเหลือที่ไม่ผ่านกรมวิเทศสหการ)

3. เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่น หนังสือมอบอำนาจ

ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2566 

ที่มา : กรมศุลกากร

โทร. 0 2667 7000 ต่อ 20-5523, 20-7638 หรือ 20-5539


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,251,670