นโยบายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจ แนวทางใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2567 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมอบนโยบายสำคัญ ได้แก่

  1. การให้ความสำคัญกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น อุทกภัยและดินโคลนถล่ม 
  2. การเตรียมการรองรับ PM2.5 มุ่งลดปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 โดยให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน
  3. การจัดการของเสียอันตราย  เน้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการลักลอบฝังกลบของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม
  4. การแก้ไขปัญหาขยะและน้ำเสีย การจัดการปัญหาขยะ มูลฝอย และน้ำเน่าเสียหลังเกิดอุทกภัย
  5. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ฟื้นฟูและรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม

โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. โครงการ Thai – German Cooperation ได้มีการอนุมัติหลักการสัญญารับเงินอุดหนุน 234 ล้านบาท โดย 150 ล้านบาทจะถูกใช้ในการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ
  2. ต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ โครงการเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
  3. การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม มาตรการควบคุมและกำกับดูแลโรงงานที่มีความเสี่ยงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
  4. มาตรการรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย มาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การจัดการหมอกควันข้ามแดน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัดและภูมิภาค

การประชุมครั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายนี้ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักโฆษก  สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โทร 0 2288 4000 ต่อ 4676
Link : https://acoc.thaigov.go.th/

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,246,155