นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย หากกำลังมองหาวิธีลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจด้วยการซื้อประกันภัย สามารถมองหาข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัทประกันภัย ว่า มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประชาชน ผู้เอาประกัน ผู้รับประโยชน์ และผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน ผ่านช่องทางออนไลน์
ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ที่ www.oic.or.th ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ การทำประกันภัยในภาคธุรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อาทิ เพลิงไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และ การจราจล ซึ่งอาจทำให้ทรัพย์ของกิจการเสียหาย นักลงทุน หรือ เจ้าของธุรกิจ จึงควรศึกษารายละเอียดประเภทของประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทประกันภัยหลายแห่ง และมีการจัดทำแผนประกันภัยที่ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบ อาทิ
ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม เป็นประกันภัยส่วใหญ่ที่บริษัท นิยมทำให้กับลูกจ้าง เพื่อคุ้มครองกรณีค่ารักษาพยาบาล หากมีการเจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ประกันอัคคีภัย เหมาะกับสถานประกอบธุรกิจ โดยจะคุ้มครองอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่ประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น ร้านค้า โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า โกดัง หรือ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งอาจมีแผนคุ้มครองทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งติดตั้งตรึงตรา อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า สต๊อกสินค้า และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าได้ด้วย
ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และประกันวินาศภัย เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น ความเสียหายเกิดจากเพลิงไหม้ น้ำท่วม แรงระเบิดของแก๊สจนมีผลกระทบต่อทรัพย์สินเสียหาย
การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก เป็นการประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก หรือ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับเจ้าของกิจการ หรือ สถานประกอบการ เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น
ประกันภัยความรับผิดภาคธุรกิจ เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองและปกป้องผู้ทำประกันภัยต่อความรับผิดชอบด้านต่างๆ เช่น การฟ้องร้อง การถูกกล่าวหา เป็นต้น
ประกันภัยไซเบอร์ เป็นประกันภัยที่ช่วยรองรับความเสี่ยงจากการคุกคามทางไซเบอร์ และความเสี่ยงต่อความเสียหายทางคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเชิงพาณิชย์ทุกประเภท
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2515-3999