ภูมิอากาศของประเทศไทย

ภูมิอากาศของประเทศไทย

ภูมิอากาศของประเทศไทย

     ประเทศไทย มีเสน่ห์สำหรับการท่องเที่ยวในทุกฤดู หากนักท่องเที่ยววางแผนหรือศึกษาข้อมูลของภูมิประเทศ และภูมิอากาศของประเทศไทยมาล่วงหน้า ก็จะทำให้ได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละภาคทั่วเมืองไทยที่น่าประทับใจแตกต่างกัน ข้อมูลของประเทศไทยมีดังนี้


1. ขนาดและที่ตั้ง

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ระหว่างละติจูด 5 ํ 37' เหนือ กับ 20 ํ 27' เหนือ และระหว่างลองจิจูด 97 ํ 22' ตะวันออก กับ 105 ํ 37' ตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศใกล้เคียงดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดประเทศเมียนมา และลาว
  • ทิศตะวันออก ติดประเทศลาว กัมพูชา และอ่าวไทย
  • ทิศใต้ ติดประเทศมาเลเซีย
  • ทิศตะวันตก ติดประเทศเมียนมา และทะเลอันดามัน


2. ภูมิประเทศและการแบ่งภาคทางอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ลักษณะภูมิประเทศ และลมฟ้าอากาศส่วนใหญ่จึงคล้ายคลึงกันมีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย การแบ่งภาคของประเทศไทยในทางอุตุนิยมวิทยาจึงพิจารณารูปแบบภูมิอากาศและแบ่งประเทศไทยออกได้เป็น 5 ภาค ดังนี้


1. ภาคเหนือ 

     ประกอบด้วย 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา มีภูเขาติดกันในแนวเหนือ - ใต้ สลับกับหุบเขามากมาย  มีทิวเขาแดนลาวทางตอนเหนือ กั้นระหว่างไทยกับเมียนมา และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง ทางตะวันตกมีทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรีบางส่วน ตอนกลางของภาคมีทิวเขาผีปันน้ำ ต้นกำเนิดของแม่น้ำวังและแม่น้ำยม ด้านตะวันออกมีทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน และมีทิวเขาเพชรบูรณ์บางส่วนเป็นแนวกั้นระหว่างภาคนี้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ในเทือกเขาจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2,565 เมตร


2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

     ประกอบด้วย 19 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และลาดต่ำไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางตะวันตกมีทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นระหว่างภาคนี้กับภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนทางใต้มีทิวเขาสันกำแพงกั้นระหว่างภาคนี้กับภาคตะวันออก และทิวเขาพนมดงรักกั้นพรมแดนภาคนี้กับประเทศกัมพูชา ทิวเขาเพชรบูรณ์และทิวเขาดงพญาเย็น ซึ่งสูงประมาณ 800 ถึง 1,300 เมตร และทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงประมาณ 400 เมตร เป็นแนวกั้นกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้พื้นที่ทางด้านตะวันตกของภาค ซึ่งเป็นด้านหลังเขามีฝนน้อยกว่าทางตะวันออก


3. ภาคกลาง

     ประกอบด้วย 18 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ระดับพื้นที่ลาดลงมาทางใต้ตามลำดับจนถึงอ่าวไทย ภูเขาในภาคนี้ส่วนใหญ่จะไม่สูงมาก เว้นแต่ทางด้านตะวันตกใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา มีเทือกเขาตะนาวศรีวางตัวในแนวเหนือ - ใต้ ต่อเนื่องมาจากภาคเหนือเป็นแนวกั้นพรมแดนกับประเทศเมียนมา และมีความสูงเกินกว่า 1,600 เมตร ทางตะวันออกมีทิวเขาดงพญาเย็น เป็นแนวแบ่งเขตภาคนี้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


4. ภาคตะวันออก

     ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและที่ราบ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของภาคมีทิวเขาบรรทัดเป็นแนวกั้นพรมแดนกับประเทศกัมพูชา ถัดเข้ามามีทิวเขาจันทบุรี ทางเหนือมีทิวเขาสันกำแพงและพนมดงรักวางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออกเป็นแนวแบ่งเขตภาคนี้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันตกและทางใต้เป็นฝั่งทะเลติดกับอ่าวไทย มีเกาะใหญ่ - น้อยมากมาย


5. ภาคใต้

     เป็นคาบสมุทรขนาบด้วยทะเลสองด้าน ด้านตะวันตกคือทะเลอันดามัน ด้านตะวันออก คืออ่าวไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ ทางตอนบนของภาคมีทิวเขาตะนาวศรีซึ่งวางตัวในแนวเหนือ - ใต้ต่อเนื่องมาจากภาคเหนือและภาคกลางเป็นแนวกั้นพรมแดนกับประเทศเมียนมา ทางตอนล่างของภาคมีทิวเขาภูเก็ตและทิวเขานครศรีธรรมราชวางตัวในแนวเหนือ - ใต้ 


     ภาคนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกติดกับอ่าวไทย ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง และที่ราบด้านตะวันตกขนานกับชายฝั่งทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นบริเวณแคบกว่าที่ราบด้านตะวันออก ทางทิศใต้ของภาคมีทิวเขาสันกาลาคีรีเป็นแนวกั้นพรมแดนกับประเทศมาเลเซีย


แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

  • ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ บริเวณตอนบนของภาคต่อเนื่องถึงที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ประกอบด้วย 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
  • ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

 

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2399 4012

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,996