เวลามาตรฐานของไทย
เวลามาตรฐาน (Standard Time) ประจำถิ่นของแต่ละประเทศ มีมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เพื่อขจัดความสับสนจากการจับเวลาตามแสงอาทิตย์ การกำหนดเวลามาตรฐานท้องถิ่นมีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเดินรถไฟในปี 2383 มีการใช้เวลามาตรฐานครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยทั้งประเทศใช้เวลามาตรฐานที่เมืองกรีนิช (Greenwich) ต่อมา เซอร์ แซนฟอร์ด เฟรมมิง นักวางแผนและวิศวกรรถไฟชาวแคนาดาได้เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่มีการใช้เวลามาตรฐานไปทั่วโลก
การประชุมนานาชาติ (International Prime Meridian Conference) ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 ทำให้มีการใช้เวลามาตรฐานของแต่ละประเทศโดยเทียบกับเวลามาตรฐานโลก (Universal Time Co-ordinated หรือ UTC) ขึ้น โดย 25 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้มีข้อตกลงให้แบ่งโลกตามแนวเส้นแวงออกเป็น 24 โซนเท่า ๆ กัน แต่ละโซนมีค่า 15 องศา ทั้งในทางทิศตะวันตก และตะวันออก และมีค่าเท่ากับ 1 ชั่วโมงห่างจากโซนที่ติดกันและเส้น 0 องศาจะผ่านที่เมืองกรีนิช (Greenwich) ประเทศอังกฤษ โดยมีเส้นแบ่งวัน (International Date Line) อยู่ที่ 180 องศา
ประเทศต่าง ๆ ได้รับเอาแนวคิดการใช้เส้นแวงที่แบ่งโลกออกเป็นสองส่วนเป็นตัวกำหนดเวลา ว่าเวลามาตรฐานประจำถิ่นเร็วกว่า หรือช้ากว่าเวลามาตรฐานโลก ที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ แต่มีการกำหนดเวลาท้องถิ่น และเปลี่ยนแปลงไป ตามสภาพของประเทศต่าง ๆ โดยสิทธิการกำหนดเวลามาตรฐานประจำถิ่นยังเป็นของประเทศนั้น ๆ อยู่
สำหรับประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เป็นผู้ควบคุมเวลามาตรฐานของประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเวลาให้เที่ยงตรง ในแต่ละปีจะมีการประสานงานกับสถาบันนานาชาติ เกี่ยวกับน้ำหนักและการวัด (International Bureau of Weighs and Measurement หรือ BIPM) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
การประกาศใช้เวลามาตรฐานของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชโองการกำหนดเวลามาตรฐานสำหรับประเทศไทยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา ซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 36 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2462 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2463 (วันขึ้นปีใหม่ในขณะนั้น) ให้ “เวลาอัตราสำหรับกรุงสยามทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลากรีนิชในเมืองอังกฤษ”
ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดเวลามาตรฐานของประเทศเป็น UTC + 7 ชั่วโมง (เร็วกว่าเวลามาตรฐานโลก 7 ชั่วโมง)
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา เลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2399 4012