ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลขอเรียกเก็บจากประชาชนผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี โดยผู้ที่มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีจะต้องรวบรวมเอกสารจำเป็นให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อการพิจารณาภาษีได้อย่ารวดเร็ว ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายบางรายการยื่นหักลดหย่อนภาษีได้ โดยหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก่อนนำไปคำนวณภาษี
สิทธิหักลดหย่อนผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษี ที่รัฐเห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือเป็นสิทธิพิเศษที่รัฐต้องการจะสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมบางอย่าง โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใน ทุก ๆ ปี ผู้เสียภาษีจึงควรหมั่นติดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของแต่ละปีเพื่อวางแผนลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
สำหรับการหักลดหย่อน จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
(1) กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
3. ผู้มีเงินได้ หรือคู่สมรส ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดา ต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อน สำหรับบิดา มารดาของคู่สมรส ได้อีกคนละ 30,000 บาท
6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้ หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) ถ้าความเป็นสามีภริยา มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึง มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการ และเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร
(ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร
8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท
9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
14. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อ หรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
17. เงินบริจาค
18. ค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง (เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น)
19. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ละคราวไม่เกิน 60,000 บาท
20. เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
21. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ชอปดีมีคืน หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท เป็นค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษี ค่าซื้อหนังสือ ค่าบริการหนังสือ ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e - books) ค่าซื้อสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)
(2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
(3) กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เบอร์ติด่อ : 0 2272 8000