การบริจาคเงินภาษีให้พรรคการเมือง

การบริจาคเงินภาษีให้พรรคการเมือง

     ผู้เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองที่ชื่นชอบได้ โดยตั้งแต่ปีภาษี 2551 เป็นต้นไป บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (ไม่รวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคล ที่มิใช่ นิติบุคคล และกองมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่ง) สามารถบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษี ให้แก่พรรคการเมือง พร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกรมสรรพากร ว่าด้วย ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176) ดังนี้

  • ผู้มีเงินได้เมื่อคำนวณภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 และมีเงินภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป
  • ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิบริจาค ต้องแสดงเจตนาไว้ในช่องที่กำหนดไว้ ในแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 โดยต้อง ระบุให้ชัดเจนว่า ประสงค์จะบริจาค หรือ ไม่บริจาค และระบุรหัสพรรคการเมืองที่ต้องการบริจาค หากไม่ระบุความประสงค์ หรือไม่ระบุรหัสพรรคการเมือง ถือว่าไม่ได้แสดงเจตนาบริจาคตามหลักเกณฑ์ ดังนี้     
    • ระบุรหัสพรรคการเมือง ที่ต้องการบริจาคได้เพียง 1 พรรคการเมือง หากแสดงเจตนาเกินกว่า 1 พรรคการเมือง ถือว่าไม่ประสงค์จะบริจาคให้พรรคการเมืองใด 
    • เมื่อแสดงเจตนาบริจาคให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง           
    • พรรคการเมือง ที่ผู้บริจาคแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้ได้ในปีภาษีใด จะต้องเป็นพรรคการเมือง ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนพรรคการเมืองในปีภาษีนั้น หากพรรคการเมืองที่แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษี ให้สิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ ตามกฎหมายในปีภาษีใด ให้ถือเสมือนว่าไม่มีพรรคการเมืองนั้น ที่จะได้รับการแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีในปีภาษีนั้น

     ทั้งนี้ สามารถค้นหา รหัสพรรคการเมือง ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th

  • การแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ห้ามมิให้นำไปหักเป็นค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีสิทธิแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ในแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ ดังนี้      
    • กรณีสามี หรือภริยา มีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายที่มีเงินได้ เป็นผู้ระบุความประสงค์ในแบบแสดงรายการภาษี           
    • กรณีสามี หรือภริยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือรวมยื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่แยกคำนวณภาษี ให้สามีและภริยา ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิระบุความประสงค์ในแบบแสดงรายการภาษี           
    • กรณีสามี หรือภริยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และรวมยื่นแบบแสดงรายการภาษี รวมทั้งรวมคำนวณภาษีให้ต่างฝ่าย ต่างมีสิทธิ ระบุความประสงค์ของตนเองในแบบแสดงรายการภาษี โดยกรอกรายละเอียดการคำนวณแยกรายการบุคคลใน “ใบแนบ ภ.ง.ด.90 / 91” 

     อนึ่ง หากผู้มีเงินได้ คำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วมีเงินภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป และมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไว้เกินกว่าเงินภาษีที่ต้องชำระ เมื่อแจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน พร้อมทั้งแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองด้วย กรมสรรพากรจะหักเงินบริจาคดังกล่าว จากเงินภาษีที่ต้องชำระ ดังนั้นการบริจาคเงินภาษีดังกล่าว ไม่มีผลต่อเงินภาษีที่ขอคืนไว้แต่อย่างใด

 

ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,833