รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งการพัฒนาภาค และกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยในส่วนของภาคเหนือ กำหนดให้จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูด ลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) ได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการ ที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในภาคเหนือ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable Industry มาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน และสังคม รวมทั้งมาตรการวีซ่า LTR ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการผลักดัน สำหรับภาคเหนือ ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายสาขา มีส่วนผสมอย่างลงตัวระหว่าง High Tech เช่น เชียงใหม่ เป็นแหล่งรวมสตาร์ตอัป และกลุ่ม Digital Nomad อีกทั้งมีย่านนวัตกรรมการแพทย์ และโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพ ส่วนลำพูนเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์หลักของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และมีไบโอคอมเพล็กซ์ ต้นแบบเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งอยู่ที่นครสวรรค์และเชื่อมโยงกับจังหวัดโดยรอบ
ขณะที่ในด้าน High Touch ภาคเหนือมีความโดดเด่นทั้งในแง่ศิลปวัฒนธรรม งานหัตถกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งเกษตร และอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมเกษต รและอาหารแปรรูป (Northern Food Valley), ธุรกิจ BCG, อุตสาหกรรมสร้างสรรค์, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ, การสร้างเมืองนวัตกรรม (Chiangmai City of Innovation), การสนับสนุน Digital Nomad รวมทั้งการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ในภาคเหนือ ผ่านการให้สินเชื่อ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี
พื้นที่ NEC เป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ใน 4 ภาค ที่มีการการออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีเงื่อนไขด้านการพัฒนาบุคลากร หรือการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมดึงอีก 17 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมผลักดันการเติบโตไปพร้อมกัน
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค. 2566) มีการลงทุนใน NEC ทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,116 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล
แหล่งที่มา :สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
เลขที่ 1 ถนนนครปฐม เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
เบอร์ติดต่อ : 0 2280 9000