ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ คำนวณจากเงินได้ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย

ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ คำนวณจากเงินได้ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย

     ปัจจุบันฐานภาษีเงินได้ของนิติบุคคลที่ถูกนำมาคำนวณภาษีสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ คือ กำไรสุทธิ, การจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย, เงินที่จ่ายจาก หรือในประเทศ และยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย

     ฐานภาษีที่คำนวณจากเงินที่จ่ายจากหรือในประเทศ นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย  และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย 

     การเสียภาษีกรณีนี้ กฎหมายให้เสียโดยวิธีหักภาษี คือ ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายเงินได้ก็ตาม ภาษีที่หักไว้ในกรณีนี้เป็นภาษีที่เสียเด็ดขาด จึงเสร็จสิ้นเป็นรายครั้ง ถ้ากรณีที่เป็นการจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาขาของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีตามฐานนี้ เพราะผู้รับเงินได้ ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีฐานนี้แต่อย่างใด

     เงินได้ที่ต้องหักภาษี เงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ  ซึ่งผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ได้แก่ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) 

1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ (ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ยืม ในทางปฏิบัติถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 8)

2. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) ได้แก่ ค่าแห่งค่านิยม (Goodwill) ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปี อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

3. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) ได้แก่เงินได้ที่เป็น

  • (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ก็ตาม

          กรณีได้เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยจากรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของ ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ไม่ต้องเสีย ภาษีฐานนี้ (มาตรา 70 วรรค 2 )

  • (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือกองทุนรวม
  • (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นส่วนในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • (ง) เงินลดทุนของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและ เงินที่กันไว้รวมกัน
  • (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งกำไรที่ได้มา หรือเงินที่กันไว้ รวมกัน
  • (ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
  • (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือ ตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

4. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) ได้แก่ เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจากการให้เช่า ทรัพย์สิน

5. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม

การคำนวณหักภาษี มีหลักเกณฑ์และวิธีการแยกออก ตามประเภทของเงินได้ ดังนี้

  1. เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) และ (6) นอกจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข)  ให้คำนวณหักภาษีในอัตรา ร้อยละ 15 
  2. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) ให้คำนวณหักภาษีในอัตรา ร้อยละ 10 

     การยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย สำหรับบริษัทต่างประเทศข้างต้น ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือน ของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินแบบแสดงรายการที่ยื่น ได้แก่ แบบ ภ.ง.ด.54 (ถ้าไม่มีการส่งเงินได้ไปต่างประเทศไม่ต้องยื่นแบบฯ) 

 

ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000

 

ข้อมูลเพิ่มเติม 1 

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,253,761