ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ เงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินจะหักออกจากเงินที่จะจ่ายให้กับผู้รับ โดยผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งให้กับสรรพากร ส่วนผู้รับเงินก็จะได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จากผู้จ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีกับสรรพากรว่าได้ชำระภาษี ในรูปแบบของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ทยอยจ่ายไว้แล้วในระหว่างปี ซึ่งในกรณีที่มีการชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วนนั้นถือมีความผิดตามกฎหมาย โดยกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรดังนี้
ข้อ 1 ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่ ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 2 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ได้นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้มีหน้าที่หักภาษีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษี ที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและไม่ได้นำส่ง ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรและต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 3 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ได้ออกเงินค่าภาษีแทนผู้มีเงินได้ โดยนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่นำเงินส่งไว้ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่หักภาษี ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดไป ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 4 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ได้ออกเงินค่าภาษีแทนผู้มีเงินได้ โดยนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไว้ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่หักภาษี ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินและผู้มีเงินได้ พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้นำส่งไว้ครบจำนวนที่ถูกต้อง ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 5 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไว้ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่หักภาษีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิ และผู้มีเงินได้ พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษี เท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้นำส่งไว้ครบจำนวนที่ถูกต้อง ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 6 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่หักภาษีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดไป ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรและต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง โดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 7 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ครบจำนวนที่ถูกต้อง แต่ได้นำเงินภาษีที่ ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง หรือไม่นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษี พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษี เท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และผู้มีหน้าที่หักภาษี ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 8 กรณีรัฐบาล หรือองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินที่จะตรวจสอบให้แน่ว่า จำนวนเงินภาษีที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ได้คำนวณและจดไว้ในฎีกาเบิกเงินแล้ว และให้เป็นหน้าที่ ที่จะหักเงินจำนวนนั้นก่อนจ่าย ตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 9 การคำนวณเงินเพิ่มตามข้อ 2 ถึงข้อ 8 ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันที่ชำระ หรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ ไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่ง ทั้งนี้ไม่ว่าภาษีที่ต้องเสียห รือนำส่งนั้นจะเกิดจากการยื่นรายการ หรือนำส่งภาษีเอง หรือจากการประเมิน หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน
ข้อ 10 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง หรือได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้ว แต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องตามข้อ 2 ถึงข้อ 8 แต่ผู้มีเงินได้ ได้นำเงินได้พึงประเมินตามจำนวนที่ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือตามจำนวนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแล้ว ถือว่าผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ชำระหนี้ภาษีแล้ว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงหลุดพ้นจากหนี้ภาษี เฉพาะเงินภาษีที่ต้องชำระต่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 11 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้แล้ว แต่ไม่นำเงินส่งกรมสรรพากร หรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าว จะต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว สำหรับผู้มีเงินได้จะพ้นความรับผิดในจำนวนเงินภาษีเท่ากับจำนวนที่ถูกหักไว้ ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จึงมีสิทธินำเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามจำนวนที่ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 60 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้
ข้อ 12 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง หรือได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว แต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องตามข้อ 2 ถึงข้อ 8 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีดังกล่าว จากผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินก่อน แต่ถ้าเรียกเก็บภาษีจากผู้จ่ายเงินไม่ได้ หรือไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมิน มีอำนาจประเมินภาษีผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร หรือออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี เพื่อประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 22 มาตรา 26 และมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ครบจำนวนที่ถูกต้องต่อไป
ข้อ 13 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 1 ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 50 (5) และมาตรา 50 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งเงินภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในขณะที่มีการจดทะเบียนและห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำ หรือบันทึกจนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบจำนวนที่ถูกต้องแล้ว ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 14 ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งเงินภาษีตามข้อ 1 ถึงข้อ 9 มาใช้บังคับ ในกรณีผู้จ่ายเงินซึ่ งมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งเงินภาษี ซึ่งต้องยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร
ข้อ 15 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
แหล่งที่มา : กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
เบอร์ติดต่อ : 0 2272 8000