หลักการและรูปแบบหลักสูตรโครงการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE)

หลักการและรูปแบบหลักสูตรโครงการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE)

หลักการและรูปแบบหลักสูตรโครงการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE)  

การส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ภายใต้แพลตฟอร์มการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ Cooperative and Work Integrated Education (CWIE)  ได้บรรจุให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาดังกล่าวไว้ในแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ปี 2564 - 2570 รวมทั้งแผนปฏิรูปการศึกษา

หลักการของหลักสูตร CWIE (4 Key Characteristics of CWIE) ประกอบด้วย  

  1. 1.University - Workplace Engagement เป็นความร่วมมือร่วมกันของสถาบันอุดมศึกษา กับสถานประกอบการในการผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะพร้อมสู่โลกแห่งการทำงาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานในปัจจุบันและอนาคต
  2. Co - design Curriculum เป็นการร่วมออกแบบหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะของผู้เรียนที่เชื่อมโยงโลกของการศึกษากับโลกของการประกอบอาชีพ โดยการสร้างความสมดุลระหว่างวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต
  3. Competency  -based Education เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างสมรรถนะ ฝึกแก้ปัญหา มีการวัดผลและประเมินระดับสมรรถนะที่เป็นระบบ
  4. Experiential - based Learning ต้องมีการปฏิบัติงานจริงและประเมินการปฏิบัติงานจริงและมีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในสถานประกอบการ

รูปแบบของหลักสูตร CWIE

  1. แบบแยก (Separate) เป็นการเรียนภาคทฤษฎีที่สถาบันอุดมศึกษาจนครบตามกำหนด หลังจากนั้นจึงปฏิบัติงานในสถานประกอบการตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น สหกิจศึกษา เป็นต้น
  2. แบบคู่ขนาน (Parallel) เป็นการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาสลับกับการไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดระยะเวลาการเรียนในหลักสูตรนั้น ๆ
  3. แบบผสม (Mix) เป็นการเรียนภาคทฤษฎีในสถาบันอุดมศึกษาส่วนหนึ่ง และการเรียน ภาคทฤษฎีพร้อมการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอีกส่วนหนึ่ง เช่น การจัดการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน กรณีศึกษา เกาะสมุยโมเดล (Samui Model) ของสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น 

การจัดหลักสูตร CWIE ทั้ง 3 รูปแบบต้องเป็นความร่วมมือจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักศึกษา ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสถานประกอบการ

ประโยชน์ที่สถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และนักศึกษาจะได้รับจาก CWIE (Win – win - win Benefit)

สถาบันอุดมศึกษา

  1. ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดงาน โดยเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ ความรู้สู่การปฏิบัติ การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ทำให้บัณฑิตมี สมรรถนะและคุณลักษณะที่พร้อมในการปฏิบัติงาน (Employability) 
  2. เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาอาจารย์ โดยอาจารย์สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปนิเทศงาน หรือทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมาพัฒนาหลักสูตร หรือพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และสถานประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนา หรือต่อยอดภารกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการ

สถานประกอบการ

  1. ได้แรงงานที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการ
  2. ได้ความรู้แนวคิด และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากสถาบันอุดมศึกษา
  3. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานใหม่ และอาจเกิดการจ้างงานทันที

นักศึกษา

  1. ได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งทักษะทางวิชาชีพ (Hard skill) และทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Soft skill) เป็นการเพิ่มศักยภาพ สมรรถนะ ที่พร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริง
  2. มีโอกาสได้งานทำก่อนจบภาคการศึกษา

ที่มา : กองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (กคอ.)

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), 
โทร. 0 2039 5607 

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,306,551