ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจต้องดำเนินการส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งกรมสรรพากร มีมาตรการทางภาษีที่เสนอบริการรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เสียภาษีในยุคปัจจุบันด้วยบริการ E-Withholding Tax เป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้เสียภาษีในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย
โดยผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย เป็นผู้แจ้งธนาคารที่รับชำระเงินให้ดำเนินการหักภาษีและนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรแทน รวมทั้งธนาคารยังเป็นผู้จัดทำหลักฐานทางภาษีดังกล่าวให้กับผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย โดยผู้รับเงินไม่ต้องเก็บเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในรูปแบบที่เป็นกระดาษเหมือนเมื่อก่อน แต่สามารถตรวจสอบข้อมูลภาษี ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือเข้าได้ที่ www.rd.go.th
และเพื่อเป็นการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการให้บริการผู้เสียภาษี รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสอดรับเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐจึงขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 2 มาตรการ เพื่อให้ภาคเอกชนใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding ดังนี้
1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายการลงทุนในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax รวมถึงหักรายจ่ายค่าบริการระบบดังกล่าวได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 5 อัตราร้อยละ 3 และอัตราร้อยละ 2 เหลืออัตราร้อยละ 1 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568