เปิดสถิตินักลงทุนต่างชาติ แหล่งทุนธุรกิจด้านไหนในไทย

เปิดสถิตินักลงทุนต่างชาติ แหล่งทุนธุรกิจด้านไหนในไทย

      2 ปีที่ผ่านมาภายใต้เงาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทุบเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยจนตกอยู่ในภาวะอึมครึม จนหลายประเทศต้องงัดมาตรการกู้วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศตนเอง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ออกมาตรการกระตุ้นทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การบริโภค และภาคการลงทุนทั้งจากนักลงทุนภายในประเทศ และต่างประเทศ 

      โดยเมื่อตรวจสอบภาคการลงทุนจากต่างชาติ คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปีที่แล้ว (ปี 2565) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 480 ราย มีเงินลงทุน 106,437 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ทั้งในสัดส่วนของผู้ลงทุนที่เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 นำไปสู่การจ้างงานคนไทยได้เพิ่ม 4,635 คน 

U-Tapao.jpg


โดยสถิตินักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1. ญี่ปุ่น มีผู้ลงทุนจำนวน 125 ราย (ร้อยละ 26)  เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท 

2. สิงคโปร์ มีผู้ลงทุนจำนวน 75 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท 

3. สหรัฐอเมริกา มีผู้ลงทุนจำนวน 64 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท 

4. ฮ่องกง มีผู้ลงทุนจำนวน 35 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท 

5. สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้ลงทุนจำนวน 22 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท


      ส่วนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

  • บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา
  • บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย         
  • บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด         
  • บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 
  • บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น
  • บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ
  • บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

จากข้อมูลข้างต้นก็เป็นผลจากที่รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายให้เปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน เพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาในรอบ 2 ปี

แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อ : 1 กุมภาพันธ์  2565
ที่มา : Report


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,247,857