ครม. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ. Entertainment Complex

คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร คณะกรรมการบริหาร จัดตั้งสำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องของการอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร โดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงถึงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในที่ประชุม ครม. ระบุ ไม่ได้เห็นแย้ง เป็นเพียงข้อสังเกตที่ต้องนำเรียน ครม. และจะสามารถนำไปปรับแก้เพิ่มเติมในกฤษฎีกาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างแมนเมดเดสติเนชั่น (Man-made Destination) ก่อนที่ประชุม ครม. จะมีมติเห็นชอบในหลักการ เพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่ได้มาตรฐาน รองรับการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ขณะที่ นายกรัฐมนตรีขอให้นำไปพิจารณาในการออก พ.ร.บ. และให้พิจารณาต้นแบบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก               ที่ประสบผลสำเร็จ โดยพิจารณาทั้งมิติสังคมและทุก ๆ ด้านเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบถึงผลดีที่มีมากกว่า หลังจากนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงการคลังนำเสนอข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ถึงผลประโยชน์ที่จะกลับสู่ประเทศ "สร้างรายได้-สร้างการจ้างงาน-ส่งเสริมการท่องเที่ยว"

กระตุ้นเศรษฐกิจ
     • เกิดการลงทุนจริงเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
     • รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 119,000 ถึง 238,000 ล้านบาท
     • ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่ม ส่งผลต่อเศรษฐกิจวงกว้าง

ส่งเสริมการท่องเที่ยว
     • อาจเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5% ถึง 10% ต่อปี
     • กระตุ้นการใช้จ่ายช่วง low season เพิ่ม 13% ทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทั้งปี
     • เพิ่มการใช้จ่าย 66,043 บาท/คน/ทริป จาก 44,000 บาท/คน/ทริป

สร้างงาน
     • สร้างการจ้างงานได้อย่างน้อย 9,000 - 15,300 ตำแหน่ง (เทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้นของอัตรา การจ้างงานคนไทย 0.03-0.05%) 
     • พัฒนาศักยภาพแรงงานในประเทศ และการจ้างงานจากธุรกิจต่อเนื่อง
     • เพิ่มการจ้างงานโดยอ้อม (เช่น งานด้านการออกแบบ) 
     • การจ้างงานโดยชักนำ (เช่น การขนส่งสิ่งของ การโดยสาร)
     • การจ้างงานเพิ่มเติมในสถานบันเทิงครบวงจร และธุรกิจโดยรอบ รวมไปถึงตำแหน่งระดับบริหารจัดการ

เพิ่มรายได้ให้กับรัฐ
     • สร้างรายได้ให้รัฐประมาณ 12,037-39,427 ล้านบาทต่อปี
     • รายได้ภาษีจากกิจการอื่น ๆ เช่น โรงแรม 5 ดาว สวนสนุก (8,773 - 35,093 ล้านบาทต่อปี)
     • รายได้จากกิจการกาสิโน เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ภาษีการเล่นพนัน ขั้นต่ำ 3,264 ล้านบาทต่อปี
     • ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเข้ากาสิโนอีก ขั้นต่ำ 3,700 ล้านบาทต่อปี 
     • สามารถนำรายได้ไปใช้พัฒนาประเทศ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ระบบดูแลสังคม ระบบการศึกษา และการสร้างสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,694