จาก ASEAN สู่ RCEP ให้ประโยชน์นักลงทุนแค่ไหน

          นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ต้องดำเนินการตามภาคีสัญญาทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี และอื่น ๆ

          สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

           การอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์ และบันเทิง เป็นต้น

           สำหรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ RCEP สินค้าจะต้องผลิตได้อย่างถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ได้แก่

          1. สินค้าที่ได้มา หรือผลิตขึ้นทั้งหมดในภาคีสมาชิกผู้ส่งออก (Wholly Obtained or Produced : WO)

          2. สินค้าที่ได้มา หรือผลิตขึ้นทั้งหมดโดยใช้วัตถุดิบที่ได้ในถิ่นกำหนดของภาคีสมาชิกภายใต้ข้อตกลง (Produced Exclusively : PE)

          3. กฎเฉพาะรายสินค้า (Procuced Specific Rule : PSR) โดยใช้เกณฑ์สัดส่วนมูลค่าการผลิตในภูมิภาค เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร และเกณฑ์ปฏิกิริยาทางเคมี

          นอกจากนี้ผู้ประกอบการสามารถใช้หลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ RCEP ได้รูปแบบ คือ

          แบบที่ 1 หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Form RCEP)

          แบบที่ 2 การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยผู้ส่งออกได้รับอนุญาต (Declaration of Origin by an Approved Exporter) 

          RCEP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ช่วยลดอุปสรรคทางการค้า โดยภาษีนำเข้าระหว่างประเทศอาเซียนเป็น 0 และการใช้สิทธิประโยชน์ล้วนใช้เอกสาร Form D เหมือนกันทุกประเทศ รวมถึงการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสามารถใช้วัตถุดิบและแรงงาน ในประเทศอาเซียน ช่วยลดต้นทุน การผลิต การลงทุนย้ายฐานการผลิตทำได้สะดวกมากขึ้น

          นอกจากนี้จะเห็นว่าการรวมกลุ่มของอาเซียน ได้ช่วยขยายการลงทุนระหว่างกันทำได้สะดวกมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการใช้และสร้างมาตรฐานสินค้า และบริการร่วมกัน และทำให้ประเทศนอกกลุ่มให้ความสนใจในการลงทุน เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น

ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
เบอร์โทรศัพท์: +66 2-528-7500-29


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,247,601