ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)
เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถือเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากร 30.2% ของประชากรโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
RECP ได้พัฒนาแนวคิดจาก ASEAN + 3 และ ASEAN + 6 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint ที่อาเซียนต้องการรักษาบทบาทในการเป็นแกนกลาง (ASEAN Centrality) ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาค
RCEP ถือเป็นการพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ในการเพิ่มความสะดวก รวดเร็วภายใต้ข้อผูกพันของประเทศภาคีสมาชิกที่จะได้รับการยกเว้นอากร และการลดอัตราภาษีทางศุลกากร เช่น การร่นระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าที่สั้นลงเหลือ 6-48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการ รวมถึงเป็นการขยายขอบเขตการเปิดเสรีการค้าระหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5
และจากความตกลง RCEP ซึ่งมีระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกัน รวมทั้งเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่บางประเทศสมาชิกมีร่วมกัน เช่น จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศสมาชิกไม่อาจทำการเปิดตลาดให้แก่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ อย่างเท่ากันได้ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกัน อาจได้รับสิทธิประโยชน์จากประเทศผู้นำเข้าแตกต่างได้ ความตกลง RCEP จึงมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้น เพื่อใช้พิจารณาว่าสินค้าส่งออกจะสามารถได้รับถิ่นกำเนิดของประเทศผู้ส่งออกในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงกว่าของประเทศหนึ่งในการส่งออก
ทั้งนี้ประเทศสมาชิก RCEP ที่มีการเปิดตลาดที่แตกต่างกันประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
แม้ข้อตกลง RECP จะช่วยขยายกรอบความร่วมมือทางการค้า แต่อีกด้านยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เห็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และต้องการสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบในการผลิต และส่งออก
RCEP เป็นอีกส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านการค้า การลงทุนภาค ดังนั้น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากข้อตกลงนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดได้
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
เบอร์โทรศัพท์:+66 2-528-7500-29