1 พ.ค.66 เกณฑ์ใหม่เสียภาษีขายหุ้นกระทบลงทุนต่างชาติหรือไม่

        ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีการขายหุ้น เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะที่มาจากการขายหลักทรัพย์ ซึ่งถูกยกเว้นการจัดเก็บมานาน 30 ปี

        ต่อมาคณะรัฐมนตรี มีมติให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (เสียภาษีขายหุ้น) ที่คาดว่าเริ่มได้ 1 พฤษภาคม 2566 แบ่งการจัดเก็บเป็น 2 ช่วง ดังนี้

        ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66

        ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป

        ส่วนผู้ขายที่ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่

        1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

        2. สำนักงานประกันสังคม

        3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

        4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

        5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

        6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

        7. กองทุนการออมแห่งชาติ 

        8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

        จากข้อมูลการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศ พบว่ามีการจัดเก็บภาษีทั้งจากการขาย และการซื้อ ได้แก่      

        อินโดนีเซีย เก็บภาษีจากการขาย 0.10%

        เวียดนาม เก็บภาษีจากการขาย 0.10%

        จีน  เก็บภาษีจากการขาย 0.10%

        ฮ่องกง  เก็บภาษีจากการขายและการซื้อขาย  0.13%

        มาเลเซีย เก็บภาษีจากการขายและการซื้อ 0.15% แต่ไม่เกิน 1,000 ริงกิต

        เกาหลีใต้ เก็บภาษีจากการขาย 0.23%

        ไต้หวัน เก็บภาษีจากการขายหุ้น หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.10% และจากการขายหุ้นกู้และหลักทรัพย์อื่น 0.10%

        ฟิลิปปินส์ เก็บภาษีจากการขาย 0.60%

        อังกฤษ เก็บภาษีจากการซื้อ 0.50% และจัดเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้น (Capital Gain Tax)

        แม้การเก็บภาษีขายหุ้นจะสร้างความกังวล เพราะอาจกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมสูงกว่านักลงทุนในประเทศ แต่หากพิจารณาถึงอัตราภาษีที่จัดเก็บของไทยกับต่างประเทศ ถือว่าอยู่ระดับที่ต่ำกว่า หรือใกล้เคียง ขณะที่ความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังมีความได้เปรียบ และมีความน่าสนใจดึงดูดการลงทุนมากกว่า ดังนั้นนับจากนี้ จึงเป็นช่วงเวลาให้การปรับตัว และเตรียมความพร้อม

ที่มา: กรมสรรพากร
เบอร์โทรศัพท์: 1161


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,253,690