คู่มือการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC

         เป้าหมายการยกระดับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้พื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้เวลาปรับโฉมพื้นที่ “อีสเทิร์นซีบอร์ด“ แห่งนี้ครั้งใหญ่จากเดิมที่เคยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรม กำลังกลายเป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้ 8 แผนการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย

1. แผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐาน

2. แผนปฏิบัติการการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3. แผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษาการวิจัย และเทคโนโลยี

4. แผนปฏิบัติการการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว

5. แผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองใหม่ และชุมชน

6. แผนปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางการเงิน

7. แผนปฏิบัติการการประชาสัมพันธ์ และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการกับประชาชน

8. แผนปฏิบัติการการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม


         พร้อมกับยังมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต


โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ประกอบด้วยดังนี้

    1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
    2. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
    3. อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์
    4. อุตสาหกรรมดิจิทัล
    5. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
    6. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
    7. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
    8. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
    9. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
    10. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 
    11. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
    12. อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากร และการศึกษา 

         ช่วงปี 2566-2570  รัฐบาลจัดงบประมาณ 3.37 แสนล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภครวม 77 โครงการ สร้างโครงข่ายคมนาคมที่ไร้รอยต่อทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศซึ่งจะทำให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย-อาเซียน ในอนาคต เกิดการสร้างงานอีก 1 แสนตำแหน่งใน 5 ปี และสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ 16% รวมทั้งก่อนหน้านี้ยังมี ”อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ“ ในพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ 

         การต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (FIRST S-CURVE) จำนวน 5 ประเภทอุตสาหกรรม คือ 

(1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

(2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

(3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี/การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

(4) อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

(5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

         อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อยกระดับมูลค่าอุตสาหกรรม (NEW S-CURVE) จำนวน 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่

(1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

(2) อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์

(3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

(4) อุตสาหกรรมดิจิทัล

(5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

         อุตสาหกรรมเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 2 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่

(1) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

(2) อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากร และการศึกษา


สำหรับผู้ประสงค์จัดตั้ง หรือขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 

         คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการจัดตั้งหรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 

1. เป็นนิติบุคคลไทย 

2. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือหลักฐานแสดงการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง หรือหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

          หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งหรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ผู้เสนอโครงการฯต้องระบุรูปแบบการขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ 

1. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 

2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม

2.1 รูปแบบนิคมอุตสาหกรรม 

2.2 รูปแบบการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเฉพาะด้าน (Cluster)


การยื่นคำขอและเอกสารประกอบ มีดังนี้

         โครงการจัดตั้งหรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

1. สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน (สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) ที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ดำเนินการเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ (โดยระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) 

2. สำเนาระวางที่ดินของสำนักงานที่ดิน 

3. บัญชีโฉนดที่ดิน 

4. แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 แสดงตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และบริเวณโดยรอบ (ขนาดเท่ามาตราส่วนจริง) 

5.รายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ รูปแบบเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ประเภทของอุตสาหกรรมหรือกิจการที่จะส่งเสริมในพื้นที่ 

6. แนวคิดการออกแบบระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกเบื้องต้น (Conceptual design) 

7. แผนผังแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Plan) 

8. แผนการพัฒนาโครงการ แผนการขายหรือให้เช่าพื้นที่ 

9. แผนการลงทุน แผนการเงิน แหล่งเงินทุน และการวิเคราะห์ผลตอบแทนโครงการ 

10. รายละเอียดข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น 

11. แผนที่โครงการบริเวณกรอบพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA จาก สผ. พร้อมแผนที่โครงการที่ขอขยายในมาตราส่วนเดียวกัน (กรณีการขอขยายพื้นที่) 

12. ผังเมืองปัจจุบัน โดยระบุขอบเขตพื้นที่ที่ขอจัดตั้ง หรือขยายให้ชัดเจน 

13. หนังสือรับทราบการนำที่ดินมาใช้ดำเนินโครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือนิคมอุตสาหกรรมจากหน่วยงานซึ่งดูแลพื้นที่ 

14. หนังสือสนับสนุนการใช้น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) บริษัท จัดสรรน้ำในโครงการ ฯลฯ 

15.เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาโครงการ

         รายละเอียดผู้ยื่นคำขอจัดตั้งหรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีดังนี้ 

1. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง พาณิชย์ และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ก่อนวันยื่นคำขอ 

2. งบการเงินที่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต ย้อนหลัง 3 ปี (ถ้ามี)

ทั้งนี้ ไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับงบลงทุนตั้งต้นในการจัดตั้ง หรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอัตรา 1,000,000 บาทต่อโครงการ (ชำระครั้งเดียว)
  • ค่าประชาสัมพันธ์เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีอัตรา ดังนี้ 
    - พื้นที่โครงการไม่เกิน 500 ไร่ อัตรา 200,000 บาท
    - พื้นที่ไม่เกิน 3,000 ไร่ อัตรา 400,000 บาท
    - พื้นที่มากกว่า 3,000 ไร่ อัตรา 600,000 บาท (ชำระครั้งเดียว)
  • ค่ากำกับการบริการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีอัตรา ดังนี้  
    - พื้นที่โครงการไม่เกิน 500 ไร่ อัตรา 500,000 บาท 
    - พื้นที่ไม่เกิน 3,000 ไร่ อัตรา 1,000,000 บาท
    - พื้นที่มากกว่า 3,000 ไร่ อัตรา 1,500,000 บาท (ชำระตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จนถึงปีที่ 50 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจำนวนร้อยละ 10 ของทุก 10 ปี)


สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 

1) สิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน 

• ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางกิจกรรมได้นานสูงสุด 13 ปี 

- กลุ่ม A1+ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี (มี R&D HRD)

- กลุ่ม A1-A4 ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี (มี R&D HRD)

- กลุ่ม A1+ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี

- กลุ่ม A1-A4 ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 2 ปี  

• ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร 

• ยกเว้นอากรวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก และการวิจัยและพัฒนา 

• เงินกองทุนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ตาม พรบ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 


2) สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามประกาศกระทรวงการคลัง 

• อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% สำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อัตราภาษีเงินได้ 15% สำหรับผู้บริหารต่างชาติที่ทำงาน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานการค้าระหว่างประเทศในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

• สามารถหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุน วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ได้สูงสุด 300% ผ่านการรับรองโครงการจาก สวทช. 


3) สิทธิพิเศษเฉพาะเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 

การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน/อาคารชุด/ระยะเวลาการเช่า 

    • นิติบุคคลต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ 
    • นิติบุคคลต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์อาคารชุด เพื่อประกอบกิจการ และอยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ 
    • การทำสัญญาเช่า เช่าช่วงให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ไม่เกิน 50 ปี และต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 49 ปี 

การนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร 

    • สิทธิในการเข้าเมืองของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะสามารถอาศัยในประเทศไทยได้สูงสุด 4 ปี 

ธุรกรรมการเงิน 

    • สิทธิได้รับการยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา และใช้เงินตราต่างประเทศในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

สิทธิประโยชน์อื่น 

    • สิทธิได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรี 
    • ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตจดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพ เพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ 

4) ศูนย์การให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) 

เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนในการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย มีดังนี้ 

• กฎหมายว่าด้วยการขุดดิน และการถมดิน 

• กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 

• กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร 

• กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 

• กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 

• กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ 

• กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 

• กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน


สถานที่ติดต่อ : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ชั้น 25 อาคาร กสท. โทรคมนาคม 72 ซอยวัดม่วงแค ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ : 0 2033 8000  

ช่องทางติดต่อออนไลน์ : เว็บไซต์ : https://eeco.or.th 

เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ : 08.30-16.30 น.

ที่มา : EEC
เบอร์โทรศัพท์ : +66 2033 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,242