การขนส่งสินค้าทางราง นับเป็นระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่า ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการขนส่งสินค้าทางรางเพื่อขนส่งสินค้าได้คราวละมาก ๆ
“การรถไฟแห่งประเทศไทย” จึงได้วางนโยบายที่จะดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการ ช่วยสร้างรายได้ และผลักดันให้โลจิสติกส์ไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ
ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ไปยังศูนย์กระจายสินค้า ผ่านเส้นทางรถไฟในหลายเส้นทาง และขณะนี้ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกลือ ทุเรียน ยางพารา และ ไม้ปาติเกิลบอร์ด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนน มาสู่ระบบราง
การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลอง ขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ต้นทางการขนส่ง เริ่มจากสถานีนาผักขวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และปลายทางหยุดรถสถานีศรีสำราญ จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทาง 356 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการเดินรถเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมง ซึ่งสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ขนส่ง มีน้ำหนัก
แต่ละม้วนอยู่ระหว่าง 6 - 23 ตัน/ม้วน เส้นผ่านศูนย์กลาง ไม่เกิน 2,050 มิลลิเมตร การทดลองขนส่งครั้งนี้ จะมีการจัดทำรายงานสรุปผลการทดสอบ จัดทำแผนการขนส่ง และรวบรวมสรุปผลการดำเนินงานในช่วงปีถัดไป โดยเบื้องต้น บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) มีแผนเริ่มขนส่งในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังได้เตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางราง โดยจัดเตรียมงบประมาณ วงเงิน 2,400 ล้านบาท เพื่อจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 946 คัน รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระบบรางที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ทั้งรถไฟทางคู่ การก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และลดปัญหามลพิษทางอากาศ
การพัฒนาระบบขนส่งทางราง จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ให้สามารถนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ขนส่งไปกับทางรถไฟ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การเดินทาง และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถระบบขนส่งของประเทศ ให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศและก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการขนส่งสินค้า ภาคเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
เลขที่ 1 ถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 เบอร์ติดต่อ : 0 2220 4272
ข้อมูลเพิ่มเติม