"ป้ายแก้ง่วง" มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหุตจากการหลับใน

     หลายคนที่ใช้ถนนทางหลวง ในหลายเส้นทาง อาจพบเห็นที่ระบุข้อความแปลก ๆ เช่น  เขตแก้ง่วง, โลมาเป็นปลา หรือไม่, ฉลามวาฬ เป็นฉลาม หรือวาฬ?  ซึ่งอาจจะสร้างความสงสัย ขบขัน ให้แก่ผู้ขับขี่ แต่รู้หรือไม่ว่า นี่เป็นหนึ่งในแนวทางรณรงค์ลดการเกิดอุบัติเหตุ จากการหลับใน  

     กรมทางหลวง ร่วมกับจุฬาลงกรณ์ ทำการการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกัน และลดผลกระทบ จากอุบัติเหตุบนทางหลวง ที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน หลังจากพบสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การหลับในเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เป็นลำดับที่ 3 รองลงมาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด และคนหรือรถตัดหน้ากระชั้นชิด  

     การศึกษามาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการขับขี่หลับใน โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือตรวจวัดระดับความอ่อนล้า หรือความง่วง ประกอบด้วยเครื่องสแกนคลื่นสมอง (EMOTIVE) นาฬิกาวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Smartwatch) กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว และการใช้แบบสอบถามประเมินความง่วง 

      แบ่งการทดลองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการทดลองด้วยเครื่องขับขี่เสมือนจริง (Driving Simulator) เพื่อจำลองมาตรการต่าง ๆ จำลองเป็นสถานการณ์ที่เกิด  จากการผสมผสาน (Combination) ระหว่างรูปแบบของป้าย และ Rumble strips และส่วนที่ 2 เป็นการทดลองมาตรการจริง บนพื้นที่นำร่อง ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการติดตั้งป้าย “เขตแก้ง่วง” ในพื้นที่นำร่อง 3 สายทาง ได้แก่

  1. ทางหลวงหมายเลข 340 สาย สาลี – สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี กม.ที่ 50+000 -70+000 ขาออก
  2. ทางหลวงหมายเลข 1 สาย ประตูน้ำพระอินทร์ – หนองแค จ.สระบุรี กม.ที่ 76+000 – 56+000 ขาเข้า
  3. ทางหลวงหมายเลข 344 สายหนองรี – คลองเขต จ.ชลบุรี กม.ที่ 20+350 – 40+350 ขาออก

     ผลการทดสอบในพื้นที่นำร่อง ร่วมกับการสอบถามผู้ใช้ทาง ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การนำระบบป้ายพิเศษเพื่อสร้างความตื่นตัว (ป้ายคำถาม - คำตอบ) สามารถกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ มีความตื่นตัว เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ได้ใช้ความคิด ลดความง่วงลงได้ รวมถึงการใช้มาตรฐานป้ายต่าง ๆ ร่วมกับแถบสั่นแนวขวาง จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทั้งความตื่นตัว และช่วยให้สังเกตเห็นป้ายได้ง่ายมากขึ้น

     หากจะนำระบบป้ายพิเศษเพื่อสร้างความตื่นตัว (ป้ายคำถาม - คำตอบ)  ไปใช้งานในพื้นที่จริง ควรเพิ่มคำถามให้หลากหลายขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนคำถามทุก ๆ 1 - 3 เดือน เพื่อลดความจำเจ และเพิ่มความแปลกใหม่ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของมาตรการ ควรต้องพิจารณาร่วมกับสภาพแวดล้อมของสายทางนั้น ๆ เช่น การติดตั้งป้ายบริเวณข้างทาง การจอดรถบริเวณไหล่ทาง การปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างทาง และจุดพักรถ เป็นต้น

     การศึกษาโครงการดังกล่าว ช่วยให้ทราบถึงปัจจัย และสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการขับขี่หลับใน สามารถสรุปเป็นแนวทางในการเสนอแนะมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุบนทางหลวงต่อไป

ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2566
แหล่งที่มา :สำนักงานเลขานุการ กรมทางหลวง
เลขที่ 2/486   ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
เบอร์ติดต่อ :0 235 6668

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,247,631