หากพูดถึงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ด้วยการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยแยกเส้นทางให้บริการตามสีต่าง ๆ ปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการไปแล้ว 7 สี ใน 11 เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีเขียว (เส้นทางสุขุมวิท, เส้นทางสีลม, ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต/แบริ่ง-สมุทรปราการ) สายสีน้ำเงิน (เส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ, บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) สายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) สายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)
และในกลางปีนี้เตรียมเปิดให้บริการในอีก 2 เส้นทาง คือ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
โดยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย ในเดือนธันวาคม 2565 งานโยธา มีความก้าวหน้าที่ 94.43% งานระบบรถไฟฟ้ามีความก้าวหน้าที่ 94.49% ความก้าวหน้ารวมอยู่ที่ 94.48% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
สำหรับส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ความก้าวหน้าของงานโยธาอยู่ที่ 13.45% งานระบบรถไฟฟ้าอยู่ที่ 4.59% ความก้าวหน้ารวมอยู่ที่ 10.48% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ความก้าวหน้างานโยธา 98.05% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 98.14% ความก้าวหน้าโดยรวม 98.09%
โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตั้งเป้ากำหนดการเปิดให้บริการในปี 2566 โดยจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โดยได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย ตั้งเป้าเปิดให้บริการช่วงเดือนสิงหาคม 2566 โดยได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 ได้เปิดให้ประชาชนเฉพาะกลุ่มที่ลงทะเบียนไว้ ได้แก่ สถาบันการศึกษา หน่วยงาน รวมถึงกลุ่มประชาชนที่สนใจ ได้ทดลองใช้บริการ และในช่วงต้นปี 2566 จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีบางส่วน (Partial) ในช่วงทดลองวิ่ง สำหรับสายสีเหลืองเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงสถานีสำโรง-สถานีภาวนา ส่วนสายสีชมพู เปิดให้บริการตั้งแต่สถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ยกเว้นสถานีนพรัตน์ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งสองสายจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาท แต่จะมีการทบทวนการกำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้งก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบประมาณ 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีผู้บริโภคตามความจริงในช่วงเวลานั้น