ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก หันมาใช้รถขนส่งสาธารณะด้วยพลังงานพลังงานไฟฟ้า (รถ EV) เพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในส่วนของประเทศไทยมีนโยบายเพิ่มรถขนส่งสาธารณะให้เป็นระบบ EV มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลมีโครงการ ใช้รถเมล์ EV แลกเปลี่ยน คาร์บอนเครดิต กับสมาพันธรัฐสวิส เป็นครั้งแรกของประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันลดคาร์บอนไดออกไซด์ 500,000 ตัน ตั้งแต่ปี 2564-2573 เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน ซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ได้มีโครงการปฏิรูปรถเมล์ สู่รถเมล์ EV พลิกโฉมระบบขนส่งไทยให้ไฉไลกว่าเดิม โดยสนับสนุนการเปลี่ยนรถเมล์โดยสารเป็นรถเมล์ EV ใช้พลังงานแบตเตอรี่สู่มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสียหรือก๊าซเรือนกระจก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถูกกว่าน้ำมัน เงียบกว่าเครื่องยนต์ดีเซล ลดมลภาวะทางเสียง โดยการชาร์จไฟฟ้าผ่านตู้ชาร์จแบบเร็ว กำลังไฟ 310 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที สามารถวิ่งได้สูงสุด 4 รอบ หรือ 280 กิโลเมตรต่อครั้ง
โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะดำเนินการจัดหารถเมล์ EV เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนรถเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 2,500 คัน ให้บริการใน 107 เส้นทาง คาดว่าในปี 2566 จะดำเนินการได้ประมาณ 10% หรือประมาณ 250 คัน
ในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งเอกชน ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมการขนส่งทางบก ได้นำรถใหม่มาให้บริการแล้ว เช่น สาย 8 แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ สาย 1 พระรามที่ 3-ท่าเตียน สาย 82 ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู สาย 34 บางเขน-ถนนพหลโยธิน-หัวลำโพง สาย 17 พระประแดง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สาย 38 มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 48 มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา-ท่าช้าง
โดยในปี 2565 กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนการให้บริการของรถเมล์ EV จำนวน 1,250 คัน ให้บริการใน 122 เส้นทาง และตั้งเป้าเพิ่มอีก 1,850 คัน ในกลางปี 2566 ทั้งรถร่วมให้บริการของภาคเอกชน และรถเมล์ ขสมก.