สธ.เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร ย้ำรักษาได้ - งดพฤติกรรมเสี่ยง

     การระบาดของฝีดาษวานร ถูกพบเมื่อพฤษภาคมปี 2565 ที่แถบแอฟริกากลางและตะวันตก ก่อนที่จะแพร่ระบาดมายังยุโรป อเมริกาเหนือ และอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ พบการระบาดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศยกระดับฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนกรกฎาคม

     WHO จะประกาศยกเลิกโรคฝีดาษวานร เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเฝ้าระวังทั่วโลกแล้ว หลังผ่านจุดสูงสุดของการระบาด แต่เชื้อไวรัสยังคงมีอยู่ในทุกที่ ทั้งประเทศแถบแอฟริกา ที่เป็นแหล่งกระจายเชื้อ ที่ซึ่งคนในประเทศยังไม่เข้าใจโรคอย่างเพียงพอ ดังนั้นทั่วโลกจึงยังคงต้องระมัดระวังและอย่าประมาท แม้จะมีการยกเลิกการประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม

     กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาล เตรียมพร้อมกรณีที่พบผู้สงสัยติดเชื้อ หรือผู้มีอาการเข้าข่าย ให้ทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันหาเชื้อ และแยกผู้ป่วย จนกว่าจะทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และเน้นย้ำว่า ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานรได้ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ และมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือไม่รู้ประวัติมาก่อน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว

     โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัวและเด็กเล็ก โดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 ระยะเวลามีอาการของโรคประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ หากมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะประชาชนผู้มีประวัติเสี่ยง สามารถแจ้งประวัติเสี่ยงและเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ท่านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2566
แหล่งที่มา : สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000

ข้อมูลเพิ่มเติม 1
ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,478