ศาสตร์แผนไทยและสมุนไพรไทย วิธีดูแลสุขภาพช่วง “ฤดูฝน”

ศาสตร์แผนไทยและสมุนไพรไทย วิธีดูแลสุขภาพช่วง “ฤดูฝน”

     “หน้าฝน” เป็นฤดูกาลที่เราจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพ และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ จะยิ่งทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ

     กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าในช่วงฤดูฝนแบบนี้ให้ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนในการช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง ในทางการแพทย์แผนไทย ถือเป็นว่าฤดูที่ส่งผลต่อร่างกายในธาตุลม ทำให้ธาตุลมกำเริบ  เกิดการเจ็บป่วยง่ายกับโรคลม เช่น ทำให้เป็นหวัดง่าย เจ็บคอ มีเสมหะเหนียวข้น การดูแลสุขภาพช่วงนี้ คือ รับประทานอาหารที่มีรสร้อน จะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีตำรับยาที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ตำรับยาตรีสะตุ คือ ตัวยาฤทธิ์ร้อน 3 อย่าง ที่จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ได้แก่ เหง้าขิงแห้ง พริกไทย ดอกดีปลี โดยสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีสรรพคุณ ดังนี้

  1. เหง้าขิงแห้ง จะมีรสหวาน เผ็ดร้อน จะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นยิ่งขึ้น
  2. เมล็ดพริกไทย มีรสเผ็ดร้อน  ลดอาการลมในช่องท้อง หรือบำรุงธาตุ และยังทำให้ร่างกายอบอุ่น 
  3. ดอกดีปลี  มีรสเผ็ดร้อน รสขม ลดอาการอักเสบ ช่วยในเรื่องแก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย 

     สมุนไพร 3 ชนิดนี้ ถือเป็นยาประจำฤดูฝน ถ้ารับประทานทั้ง 3 ชนิด ในปริมาณที่เท่ากัน อย่างละ 15 กรัม จะช่วยปรับธาตุ และคุมธาตุลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ถ้าวัตถุดิบหายาก แนะนำให้ทานน้ำขิง เพราะจะไม่ร้อนจนเกินไป ยิ่งเข้มข้นของน้ำขิง จะทำให้ฤทธิ์ของขิง มีรสหวานเผ็ดร้อน ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะช่วยขับลมในเส้น และสามารถเติมน้ำผึ้งเพื่อบำรุงกำลัง ประมาณ 1 ช้อนชา จะทำให้รสกลมกล่อม และทานง่ายขึ้น

     ส่วนอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถปรุงรับประทานได้ แนะนำพวกแกงส้ม ปลาราดน้ำพริก ไก่ผัดขิง แกงข่าไก่ ต้มจืดกะเพรา ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น

     นอกจากนี้ตำรับยาตรีสะตุ ยังช่วยสำหรับผู้ที่มีภาวะย่อยยาก เผาผลาญน้อย คนที่มีไขมันเยอะ บางโรงพยาบาลนำตำรับนี้ ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักในคลินิกลดน้ำหนัก ลดไขมันในเส้นเลือด ลดน้ำตาล ช่วยขับลม คลายกล้ามเนื้อ และยังช่วยในเรื่องการขับเมือกมันในลำไส้ 

     ยาแพทย์แผนไทย มีข้อดีคือจะไม่สะสมในร่างกาย สามารถขับออกจากร่างกาย  ไม่เหมือนยาแผนปัจจุบัน ที่เมื่อรับประทานเป็นเวลานาน อาจจะมีส่วนที่ตกค้าง การใช้ยาแผนปัจจุบันจึงต้องใช้ตามแพทย์สั่ง แต่สำหรับยาแผนไทย แนะนำให้ศึกษาหาความรู้ให้ดี หรือพบแพทย์แผนไทยผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องสมุนไพร 

แหล่งที่มา : สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000

ข้อมูลเพิ่มเติม 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,254,621