จันทบุรี 1 ใน 14 เมืองสมุนไพร จังหวัดนำร่องโครงการอาหารเป็นยา
จันทบุรี มนต์เสน่ห์แห่งเมืองภาคตะวันออก เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งทะเล น้ำตก ภูเขา รวมถึงอาหารทะเลและผลไม้รสเลิศ และมีวัตถุดิบสมุนไพรพื้นถิ่น ที่ใครได้ลิ้มรสชาติเป็นต้องหลงเสน่ห์ความอร่อย จึงมีการขับเคลื่อนจังหวัดจันทบุรีให้เป็นเมืองสมุนไพร เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก กระตุ้นเกษตรกรเพาะปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จับคู่ธุรกิจเพิ่มช่องทางและมูลค่าทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสมุนไพรและผลไม้
โครงการเมืองสมุนไพร เป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ และเป็นจังหวัดนำร่อง โครงการอาหารเป็นยา “วิถีคนจันท์” นำสมุนไพรมาประกอบเป็นอาหาร สร้างเสริมสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน และสร้างชื่อเสียงให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยชู “กระวาน” ซึ่งมีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นพืชสมุนไพรหลักในการขับเคลื่อน
โดยล่าสุดมีสถานประกอบการของจังหวัดจันทบุรี ได้รับป้ายมาตรฐานอาหารเป็นยาแล้ว 26 แห่งโดยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste และ Food for Health
จังหวัดจันทบุรี มีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร มีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรกว่า 4,600 ไร่ สมุนไพรสำคัญ 3 อันดับแรก คือ พริกไทย กระวาน และขมิ้นชัน โดยมีโรงพยาบาลเขาคิชฌกูฏ เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน GMP สนับสนุนให้กับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ถึง 26 ชนิด กำลังการผลิต 4,000,000 แคปซูล ต่อปี มีสถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร 232 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีพืชเศรษฐกิจสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย และยังมีความพร้อมในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา จึงมีแผนกระตุ้นเกษตรกรปลูกสมุนไพรเพื่อการแปรรูปภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จัดทำ Business Matching ให้เกษตรกรเห็นช่องทางและมูลค่าทางการตลาดเพื่อเป็นแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ “อย่างสมดุล”
รวมถึงการกระตุ้นผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ประกอบการแปรรูป นำสมุนไพรและผลไม้มาเพิ่มมูลค่า โดยเน้นความเป็น Super Food, Super Fruits ทำการวิจัยหาสารสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ รวมในสมุนไพรนำร่องจังหวัดจันทบุรี 11 ชนิด คือ กระวาน ชะมวง พริกไทย ทุเรียน มะปี๊ด เร่วหอม สำรอง ระกำ มังคุด ลำไย กัญชา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี พบว่า ชะมวง มีค่าสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด จัด Roadshow และพัฒนาศูนย์แปรรูปสมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนเมืองจันท์ สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกต่อไป
ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566
แหล่งที่มา : สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000