ไทยยกระดับมาตรการจัดการการระบาดไข้มาลาเรียในพื้นที่ชายแดน มุ่งเป้าสู่ประเทศปลอดโรคภายในปี 2567

โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย แม้จะพบจำนวนผู้ป่วยไม่มากเหมือนในอดีต แต่โรคนี้ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก ซึ่งยังพบการระบาด ขณะที่การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่แพร่เชื้อ

     กระทรวงสาธารณสุขของไทย จึงมีนโยบายยกระดับมาตรการจัดการการระบาดในพื้นที่แพร่เชื้อ มุ่งเป้าสู่ประเทศไทยปลอดไข้มาลาเรียภายในปี 2567 โดยกำหนด 6 มาตรการจัดการในพื้นที่แพร่เชื้อ 6 จังหวัด ได้แก่

  1. เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 
  2. ขยายการเข้าถึงบริการตรวจรักษาในชุมชน  
  3. ตอบโต้เมื่อพบผู้ป่วย หรือเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว 
  4. ควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุม  
  5. ติดตามการกินยา ผลการรักษาให้ครบ  
  6. ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 

     กรมควบคุมโรคได้จัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 ซึ่งผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2560-2564 มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย ด้านการรักษา และด้านการป้องกันควบคุมยุงพาหะ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง 

     ในช่วงปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามพรมแดน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยจำนวน 2,594 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า พบมากสุดในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ตามลำดับ อีกทั้งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย ชนิดพลาสโมเดียมโนวไซ(Plasmodium knowlesi-Pk)  มากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นเชื้อที่มีลิงหางยาวเป็นสัตว์รังโรค โดยพบมากในบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 


ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2566

แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 88/20 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 

เบอร์ติดต่อ : 0 2590 1000

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,959