เปิดมาตรการสกัดภัยไซเบอร์ของภาครัฐสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนในไทย

         

   เมื่อภาคธุรกิจเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต การนำระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการจึงมีหลากหลาย และนิยมดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มมิจฉาชีพที่คอยจ้องแอบแฝงมุ่งเจาะข้อมูลเพื่อหาผลประโยชน์จากระบบของภาคธุรกิจที่เปิดดำเนินการก็มีอยู่จำนวนมาก  

             โดยเมื่อปีที่ผ่านมา (ปี 2565) บริษัทด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (บ.พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์) เปิดเผยผลคาดการณ์แนวโน้มด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะส่งผลต่อโลกดิจิทัล พบว่าภัยการเรียกค่าไถ่จากการถูกโจมตีจากมัลแวร์ โดยเฉลี่ยที่แต่ละองค์กรต้องจ่าย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ราว 570,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18.8 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ปี 2563) ถึง 82% รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังเผยแพร่สถิติการคุกคามที่เกี่ยวกับ Ransomware เมื่อปี 2564 พบว่าทั่วโลกมีการเกิดภัยคุกคามลักษณะนี้ถึง 7,353,785 ครั้ง ซึ่งประเทศไทยถูกตรวจพบมากถึง 25,595 ครั้ง ยังไม่นับรวมภัยทางไซเบอร์อื่น ๆ อีก 

             จากปัญหานี้ประเทศไทย มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ในการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐ และเอกชนในสถานการณ์ทั่วไป หรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง อันจะทำให้การป้องกัน และการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เบื้องต้น จึงวางเกณฑ์การประเมินภัยคุกคามทางไซเบอร์ว่าอยู่ในระดับใดประกอบด้วย 4 ปัจจัย ดังนี้

       1. ลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุปกรณ์ หรือระบบงาน

       2. ลักษณะผลกระทบต่อข้อมูลในระบบ

       3. แนวโน้มในการกู้คืนระบบ

       4. ลักษณะผลกระทบต่อลูกค้า หรือผู้ใช้บริการ

            พร้อมกับมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พีดีพีเอ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อ

วันที่ 1 พฤษภาคม ปีที่แล้ว (ปี 2565) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ หรือมีระบบของผู้ให้บริการต่าง ๆ ของบริษัทต้องมีมาตรการ หรือมีระบบที่ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้รั่วไหล หรือถูกแอบเอาไปใช้ในทางไม่ชอบ ตลอดจนการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักสากล เพื่อรักษาสิทธิของผู้ใช้ระบบทั้งในชีวิตประจำวัน และภาคธุรกิจการค้า การดำเนินงานขององค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดความปลอดภัยไม่มีมิจฉาชีพเข้ามาก่อกวนจากการใช้เทคโนโลยีได้

หมายเหตุ :  ใช้ภาพพวกแฮกเกอร์ นั่งหน้าคอมฯ เจาะระบบขององค์กรต่างๆ  , ภาพคนทำงานผ่านหน้าจอคอมฯ หรือ มือถือ

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เบอร์โทรศัพท์: +66 2-141-6747


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,603