น้ำยาเคลือบโซลาร์เซลล์ลดการเกาะของน้ำและฝุ่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

     ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนา ‘น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ลดการเกาะของน้ำและฝุ่น’ เนื่องจากโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพเมื่อกระจกหน้าแผงสะอาด และได้รับพลังงานแสงอย่างเต็มที่ แต่ในช่วงฤดูแล้งที่มีแสงแดดจ้าเหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าได้มาก ผู้ใช้งานกลับต้องเผชิญปัญหา ‘ฝุ่น’ ปริมาณมหาศาลที่ลดประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าลงถึงร้อยละ 10 ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านการ ‘ผลิตสารเคลือบนาโน’ มาพัฒนานวัตกรรมสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับการเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการเกาะตัวของฝุ่น ลดภาระการบำรุงรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า 

     ‘น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์’ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบสำหรับปรับค่ามุมสัมผัสของน้ำบนวัสดุ (Water contact angle) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการลดการเกาะของฝุ่นให้แก่พื้นผิว รวมถึงทำให้น้ำ น้ำมัน หรือของเหลวที่ตกกระทบผิววัสดุมีลักษณะเป็นก้อนกลมกลิ้งไหลออกจากแผ่น ลดการยึดเกาะ และชำระล้างฝุ่นรวมถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากแผงโดยไม่ทิ้งคราบน้ำ ทำให้แผงผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ในช่วงหน้าแล้ง 

     ทีมวิจัยออกแบบ และพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบให้ใช้งานง่าย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพพื้นผิววัสดุ โดยสารเคลือบสามารถชำระล้างออกตามธรรมชาติได้ภายใน 1-2 ปี ไม่ส่งผลต่อการรับประกันแผง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใช้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้งาน สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 6,000-7,000 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 12,725 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย 

ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์ติดต่อ : 0 2564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,249,479