ยกระดับซาเล้ง - ร้านรับซื้อของเก่า ตามหลักการ BCG ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

     รู้หรือไม่ว่า การนำขยะมารีไซเคิล หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ นอกจากช่วย ลดปัญหามลพิษจากขยะคั่งค้างแล้ว ยังสร้างมูลค่าให้กับประชาชน และผู้ประกอบการในระยะยาว ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการ การคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ โดยการมีส่วนร่วมของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  

     โดยแนวทางการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มีซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ร่วมเป็นกลไกในการทำให้เศษพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำให้ “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” แต่ คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (BCG โมเดล) ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และจะสนับสนุนนโยบายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในอีก 2 ปีข้างหน้า

     ทั้งนี้ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจรีไซเคิล ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บ หรือรับซื้อขยะรีไซเคิล หรือวัสดุเหลือใช้ 

    สำหรับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการ การคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ จะดำเนินการในทุกภาคของประเทศ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เป็นการให้ความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท การปฏิบัติงานที่เหมาะสม ข้อควรระวังต่อวัตถุอันตรายบางประเภท ที่ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยข้างเคียง การปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชัน “ฮีโร่รีไซเคิล” เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการซื้อขายขยะรีไซเคิล ในอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

     นอกจากนี้ การฝึกอบรมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า จะต้องมีการปรับทัศนคติเกี่ยวกับขยะมูลฝอย ให้มองว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางโดยการทำงานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า จะต้องคัดแยกวัสดุแต่ละชนิดไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก เพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงสุขภาพอนามัยผู้ทำงานและคนในชุมชน รวมถึงโอกาสการรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายองค์กรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ


ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2565 

แหล่งที่มา : กรมควบคุมมลพิษ 

เลขที่ 92 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

เบอร์ติดต่อ : 0 2298 2000

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,245,919