ไทย - ออสเตรเลีย จับมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกทางน้ำ และทางทะเล

     ปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุด ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับปัญหา และความท้าทายในการจัดการขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย จึงเปิดโครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทย และออสเตรเลียขึ้น โดยมีตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)  ตลอดจนยังมี สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (CSIRO)  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และผู้แทนจากบริษัทผู้ประกอบกิจการด้านพลาสติก

     ความร่วมมือนี้ไม่จำกัดเพียงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมก็มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเช่นกัน เพื่อเปลี่ยนความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการทำงานร่วมกัน ซึ่งโครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทย และออสเตรเลียนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแปลงความคิดที่ก้าวล้ำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้งานได้จริง  

     ขณะเดียวกันการเปิดตัวโครงการความร่วมมือนวัตกรรมพลาสติกในลุ่มน้ำโขง ระหว่างไทย และออสเตรเลียครั้งนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรจะรวบรวมความรู้ในท้องถิ่น ทรัพยากรจากภาคเอกชน และความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเร่ง และขยาย วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรม เพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกในทางน้ำ สำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (CSIRO) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของประเทศไทย  จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในการระบุแนวทางใหม่เพื่อลดมลพิษในแม่น้ำ และทางทะเล เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าว

     โครงการนี้เป็นจุดเริ่มสำคัญในการจัดการกับขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจการหยุดขยะพลาสติก (Ending Plastic Waste) ของ CSIRO ซึ่งมีเป้าหมายที่ 80 ต่อร้อยละของขยะพลาสติกที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมภายในปี 2573 การสนับสนุนนวัตกร (innovator) ในการแปลงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กลายเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สอดรับกับโลกความเป็นจริงนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระดับโลก 

ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา :  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์ติดต่อ : 0 2564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,246,422