การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกกับเผชิญ และวางแนวทางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกไปสู่บรรยากาศ ลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน
ดังนั้น จากขยะพลาสติก ที่ได้สร้างปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาปริมาณขยะและการสร้างมลพิษ ส่งผลให้ทั่วโลกกลับมาให้ความสำคัญ รณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก และหันมาใช้พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมีความต้องการสูงขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับการตื่นตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเป็นระบบใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน และไม่มีการเผาเชื้อเพลิง จึงถือเป็นอีกเทรนด์รักษ์โลกที่กำลังมาแรง
ประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า จากมาตรการด้านภาษี เพื่อสนับสนุนให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.25 เท่า ของค่าใช้จ่ายจริงในการขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระหว่างปี 2565 – 2567 มีอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกิดการลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ยอดการลงทุนรวมในประเทศสูงถึง 112,658.60 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงาน จำนวน 1,211 โรงงาน และเกิดการจ้างงานใหม่ 30,603 คน
ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565 – มี.ค. 2566) มีการตั้งโรงงานใหม่ จำนวน 1,016 โรงงาน ยอดการลงทุน 89,427.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 29,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนใหม่สูงสุด คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าการลงทุน 22,635.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 25.31% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการลงทุน 9,259.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 10.35%
การขยายกิจการโรงงาน มีจำนวน 195 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,231.33 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนขยายกิจการสูงสุด คือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุน 10,192.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 43.87% รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 1,930.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 8.31%
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 29,760.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 26.42% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 10,403.39 ล้านบาท
ขณะที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) มีการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการโรงงาน มูลค่าการลงทุน 37,621.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 33.39% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 14,363.55 ล้านบาท
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม
75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2430 6300