อุปกรณ์เตือนภัยของประเทศไทย : ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ
ประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ แต่เมื่อปี 2547 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลื่นยักษ์ สึนามิ หลังเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ทั้งชีวิต และทรัพย์สินประชาชน
เพื่อเป็นการเตือนภัยหากมีสัญญาณว่าจะเกิดสึนามิ ในปี 2549 ประเทศไทย และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวแรกของไทย เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกันต่อความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวตามชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ตลอดจนประชาชนในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ ได้มอบทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 1 ทุ่น พร้อมทั้งอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งโดยติดตั้งในน่านน้ำสากลบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร หรือประมาณ 600 ไมล์ทะเล และขอให้ประเทศไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับเรือวางทุ่น และดูแลรักษาระบบในระยะยาว ซึ่งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิจะต้องมีการดูแลรักษาระบบเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี ตามอายุการใช้งานของแบตเตอรี่
ในปี 2560 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวที่สองในทะเลอันดามัน บริเวณเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร หรือประมาณ 210 ไมล์ทะเล การติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นการวัดการเกิดคลื่นสึนามิโดยตรงจะทำให้ประเทศไทยสามารถรับข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิตามเวลาจริง สามารถประเมินขนาดของคลื่น และเวลาที่คลื่นจะเข้ากระทบฝั่งได้อย่างแม่นยำ ถูกต้อง ตามมาตรฐาน ทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความสามารถในการแจ้งเตือนภัยสึนามิได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง สร้างความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันระบบการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในการแจ้งเตือนภัย
ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ประกอบด้วย เครื่องมือ 2 ส่วน ดังนี้
หลักการทำงานของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องตรวจวัดความดันน้ำและทุ่นลอยที่ผิวน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองชนิดเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลาโดยเครื่องตรวจวัดความดันน้ำจะทำหน้าที่ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและนำข้อมูลที่ได้ส่งผ่านไปยังทุ่นลอยในรูปของสัญญาณเสียงความถี่ต่ำ เมื่อคลื่นสึนามิเคลื่อนผ่านแท่นใต้สมุทร ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่เครื่องวัดความดันน้ำ (Bottom Pressure Recorder : BPR) เครื่องจะแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณเสียงความถี่ต่ำ ส่งผ่านน้ำทะเลมายังทุ่นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ (Surface Buoy) สัญญาณดังกล่าวจะถูกแปลงสัญญาณดาวเทียมและถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอในรูปกราฟความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำเผยแพร่ในเว็บไซต์ National Data Buoy Centre (http://www.ndbc.noaa.gov/) โดยจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 นาที ในกรณีปกติ (Normal mode) และจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 วินาที และ 1 วินาที ตามลำดับ ในกรณี Event Mode (การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำผิดปกติ) และถ้าหาก NOAA ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นคลื่นสึนามิก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์เตือนภัยพิบัติต่าง ๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย ทั้งนี้ เมื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับข้อมูลการเกิดสึนามิก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยที่ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อให้ประชาชนอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ที่มา : ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย 353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260 โทร. 0 2399 4114