วิธีรับมือความเสี่ยงอากาศแปรปรวน-ฝนฟ้าคะนอง

วิธีรับมือความเสี่ยงอากาศแปรปรวน - ฝนฟ้าคะนอง

     ประเทศไทย จะเริ่มต้นฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ในช่วงนั้นสภาพอากาศจะค่อนข้างแปรปรวน ดังนั้นจึงมีคำแนะนำในการรับมือความเสี่ยงจากอากาศแปรปรวนและพายุฝนฟ้าคะนองอย่างปลอดภัย

     ดังนั้นช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนองไม่ควรอยู่บริเวณระเบียง หรือดาดฟ้าหรือกลางแจ้ง อยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง หรือเสี่ยงต่อการแตกหัก เช่น ประตู หน้าต่าง หลังคา กระจก รวมทั้งไม่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการพกพา และสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟ เช่น เงิน ทอง นาก ทองแดง

     ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่า หนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มักจะมาพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนอง หรือสภาพอากาศแปรปรวน คือ การเกิด ฟ้าผ่า ที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้จากทั้งการถูกฟ้าผ่าโดยตรง และการถูกกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าที่ผ่าลงมาโดนต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า หรือป้ายโฆษณา ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ดังนี้

  1. หลบเข้าที่ปลอดภัยทันทีเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือได้ยินเสียงฟ้าผ่า
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด
  3. ปิด และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า
  4. หลีกเลี่ยงการยืนอยู่กลางแจ้ง หรือหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า หรือป้ายโฆษณา
  5. งดใช้เครื่องมือสื่อสาร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ส่วนการเตรียมการ และหลบเลี่ยงจากพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ได้ กรมอุตุนิยมวิทยาแนะนำสิ่งที่ควรหลบเลี่ยง ดังนี้

  • ในขณะปรากฏพายุฝนฟ้าคะนอง หากอยู่ใกล้อาคาร หรือบ้านเรือนที่แข็งแรงและปลอดภัยจากน้ำท่วม ควรอยู่แต่ภายในอาคารจนกว่าพายุฝนฟ้าคะนองจะยุติลง ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก
  • การอยู่ในรถยนต์จะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยวิธีหนึ่ง แต่ควรจอดรถให้อยู่ห่างไกลจากบริเวณที่น้ำอาจท่วมได้
  • อยู่ห่างจากบริเวณที่เป็นน้ำ ขึ้นจากเรือ ออกห่างจากชายหาด เมื่อปรากฏพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากน้ำท่วมและฟ้าผ่า
  • ในกรณีที่อยู่ในป่า ในทุ่งราบ หรือในที่โล่ง ควรคุกเข่า และโน้มตัวไปข้างหน้า แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น เนื่องจากพื้นเปียกเป็นสื่อไฟฟ้า และไม่ควรอยู่ในที่ต่ำ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ไม่ควรอยู่ในที่โดดเดี่ยวหรืออยู่สูงกว่าสภาพสิ่งแวดล้อม
  • ออกห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ ท่อน้ำ แนวรั้วบ้าน รถแทรกเตอร์ จักรยานยนต์ เครื่องมืออุปกรณ์ทำสวนทุกชนิด รางรถไฟ ต้นไม้สูง ต้นไม้โดดเดี่ยวในที่แจ้ง
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ฯลฯ และควรงดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว นอกจากกรณีฉุกเฉิน
  • ไม่ควรใส่เครื่องประดับโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง ฯลฯ ในที่แจ้งหรือถือวัตถุโลหะ เช่น ร่ม ฯลฯ ในขณะปรากฏพายุฝนฟ้าคะนอง

     นอกจากนี้ ควรดูแลสิ่งของต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยอยู่เสมอโดยเฉพาะสิ่งของที่อาจจะหักโค่นได้ เช่น หลังคาบ้าน ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า ฯลฯ

     หากเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายสามารถโทรได้ที่สายด่วน ปภ. 1784 หรือเช็กสภาพอากาศที่ สายด่วน กรมอุตุนิยมวิทยา 1182

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย 3/12 ถ.อู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300  โทร. 0 2637 3000 

     กรมอุตุนิยมวิทยา 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 โทร. 0 2399 4012 / 3 / 4, 0 2399 4566

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,610