การเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวของประเทศไทย

การเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวของประเทศไทย

     ลักษณะภูมิประเทศ และที่ตั้งของประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่แนวแผ่นดินไหวของโลก แนวที่ใกล้ที่สุดอยู่ในประเทศเมียนมา  ทะเลอันดามัน และด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา  ซึ่งค่อนข้างมีระยะห่างจากแหล่งชุมชนของประเทศไทยมาก  ดังนั้นประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในบริเวณที่มีภัยแผ่นดินไหวระดับต่ำจนถึงปานกลาง  และยังไม่เคยมีการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศ  

     แม้ว่ายังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่พบว่าแผ่นดินไหวขนาดระดับปานกลาง ต่ำกว่า  6.0 ริกเตอร์อาจเกิดใกล้แหล่งชุมชนได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบสร้างให้ต้านทานต่อแผ่นดินไหว  ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง  

     นอกจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย   แผ่นดินไหวขนาด ปานกลางจนถึงขนาดใหญ่ ตั้งแต่  6.0  ริกเตอร์ขึ้นไป ซึ่งมีศูนย์กลางตามแนวแผ่นดินไหวของโลกในประเทศเมียนมา ทะเลอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หรือแนวรอยเลื่อนมีพลังนอกประเทศบริเวณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตอนใต้ของประเทศจีน เป็นต้น อาจส่งความสั่นสะเทือนรุนแรงมายังประเทศไทยได้ 

     ผู้อาศัยบนอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ รู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้ดี เนื่องจากอาคาร และสิ่งก่อสร้างส่วนมากสร้างบนดินอ่อนซึ่งมีคุณสมบัติโยกไหวได้ง่าย  

     ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมและมาตรการ และระบบจัดการที่เหมาะสมในอนาคตสำหรับเผชิญภัยแผ่นดินไหวกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฎกระทรวง เป็นกฎหมายควบคุมอาคารให้ต้านรับแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมกับความเสี่ยง 

     โดยกำหนดให้ 9 จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, ด้านตะวันตกของประเทศไทย 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในบริเวณที่ 1 รวมถึง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในบริเวณที่ 2  ซึ่งจำเป็นต้องออกแบบสิ่งก่อสร้างให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ และมีบริเวณเฝ้าระวัง  ในภาคใต้อีก 7  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา  ภูเก็ต ระนอง  สงขลา และสุราษฎร์ธานี

     การจัดทำแผนที่เสี่ยงแผ่นดินไหวเพื่อให้มีการจัดผังเมือง กำหนดย่านชุมชนให้ห่างจากบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสูง  

     การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงภัยแผ่นดินไหว วิธีปฏิบัติก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดแผ่นดินไหว  และการฝึกซ้อมประจำทุกปีในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

     การศึกษา วิเคราะห์ วิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว และวิศวกรรมแผ่นดินไหว ปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าในเรื่องของการศึกษารอยเลื่อนมีพลังหลายรอยเลื่อนในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้  และการศึกษา ออกแบบโครงสร้าง อาคาร ต้านแผ่นดินไหว

     การพัฒนา ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดอย่างได้มาตรฐานของกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อการเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ  รวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้นโดยมีขีดความ สามารถเตือนภัยสึนามิได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันการณ์

     มีการจัดทำฐานข้อมูลแห่งชาติด้านแผ่นดินไหว และสึนามิ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา

     การจัดระบบป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ หรือพยากรณ์ได้แม่นยำ อีกทั้งยังเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เลือกเวลาเกิด และสามารถส่งผลกระทบข้ามประเทศได้ทางทั้งทางตรง และทางอ้อม 

     วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเผชิญภัยแผ่นดินไหว ได้แก่การมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก่อนการเกิด ขณะเกิด และหลังการเกิดแผ่นดินไหวอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ 10260  
โทร. 0 2399 0975

ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,893