หลังจากกรมควบคุมมลพิษ นำเสนอแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 โดยให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติกภายในปีที่ผ่านมา (ปี 2565) เพื่อใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว, ขวดพลาสติกทุกชนิด ฝาขวด แก้วพลาสติก ถาดหรือกล่องอาหาร และช้อน ส้อม มีด กลับไปใช้ประโยชน์เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นั้น
หลังจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ปี 2562) การดำเนินโครงการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัด 89,805 ตัน ลดจำนวนถุงพลาสติกหูหิ้ว 341 ล้านใบ ลดแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียว 146 ล้านใบ และลดการใช้โฟมบรรจุอาหาร 194 ล้านใบ
โดยเมื่อตรวจสอบมาตรการสำหรับการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอดีตถือเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนใช้เป็นแนวทางคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติกที่มีคุณลักษณะเหมาะสมนำไปรีไซเคิลได้มีทั้งหมด 7 ประเภท คือ
1.พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา
2.พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-Density Polyethylene : HDPE) เช่น ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า
3.พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) เช่น ท่อน้ำ สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก
4.พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Polyethylene : LDPE) เช่น ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ
5.พอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด
6.พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เช่น ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อม พลาสติก
7.พลาสติกอื่นที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น โดยจะมีชื่อของพลาสติกใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7 ซึ่งเป็นพลาสติกแข็งที่ใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC)
เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนนาฬิกา และ Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) กันชนรถยนต์
ทั้งนี้ รัฐบาลอยากเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่ม และชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย สามารถมีส่วนร่วมรีไซเคิลขยะพลาสติกทุกชนิดได้ โดยการคัดแยกเศษพลาสติก ไม่ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหาร และขยะอันตราย หากมีสิ่งปนเปื้อนให้ล้างทำความสะอาด ดึงเทปกาว กระดาษ หรือสติกเกอร์ออก พร้อมคัดแยกรวบรวมเศษพลาสติกนำไปจำหน่ายร้านรับซื้อของเก่า หรือส่งจุด Drop Point หรือมอบให้รถเก็บขนขยะของท้องถิ่นนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และทำลายให้ถูกต้อง เนื่องจากหากสามารถลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะทำให้ลดสูญเสียทรัพยากร อาทิ น้ำ และไฟฟ้ามาใช้จัดการผลิตภัณฑ์ด้านนี้ และยังทำให้ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้ด้วย
ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์โทรศัพท์: +66 2564-8000