ถอดบทเรียนจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเลร่วมแก้ขยะพลาสติกในทะเลไทยหวังหลุดโผติด TOP 10 ทิ้งขยะพลาสติกลงมาก ที่สุดในโลก

         สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยไทยติดในลิสต์ Top 10 เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม (ข้อมูล ณ ปี 2564) โดยขยะทะเลมีต้นกำเนิดหลัก ๆ มาจากบนบก 80% อีก 20% เกิดในทะเล อาทิ การท่องเที่ยวโดยเรือ และบริเวณชายฝั่ง หลุมฝังกลบขยะที่เกิดจากน้ำเอ่อล้นในช่วงฝนตกหนักพัดพาขยะลงสู่ทะเล
การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมของภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิต การขนส่งสินค้าทางเรือ การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แท่นขุดเจาะน้ำมัน
และก๊าซธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและภัยพิบัติ สอดคล้องข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบต้นทางของขยะทะเลล้วนมาจากน้ำมือมนุษย์โดยมีที่มาหลักจาก 2 แหล่ง ด้วยกัน คือ
         1. บริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะต่าง ๆ มักเป็นของเหลือใช้จากชุมชนใกล้ทะเล นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวสันทนาการ และการประมง
         2. มาจากการจัดการขยะบนบกที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ทำให้เศษขยะที่เหลือไหลลงสู่ทะเล และกลายเป็นขยะทะเลในที่สุด

         รัฐบาลไทย จึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านโครงการ “ทะเลปลอดอวน” และโครงการ
“ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ที่กรมประมงบูรณาการความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และชาวประมง เพื่อกำจัดขยะในทะเลภายใต้แนวคิดไม่สร้างขยะในท้องทะเล และเก็บขยะในท้องทะเลมาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนนำไปสู่การพัฒนาชุมชนด้วยการบริหารจัดการของชุมชนประมงเอง 


         โดยมีพื้นที่นำร่องในชุมชนชายฝั่งทะเล 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และพังงา ซึ่งมีชาวประมงเข้าร่วมกว่า 700 คน
จาก 47 ชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันในการนำเศษอวนจากเรือประมงพื้นบ้าน และที่ลอยอยู่ในทะเลมาทำความสะอาดก่อนส่งขายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ให้แก่โรงงานรีไซเคิลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และยังสามารถนำมาแปรสภาพเป็นของใช้ต่าง ๆ ได้มากกว่า 12  รายการ เช่น ที่เปิดขวด ที่รองแก้ว ที่กดลิฟท์ ส่วนประกอบของกระดานโต้คลื่น และพรมปูพื้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถูกส่งไปขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศมากกว่า 100,000 ชิ้น เกิดรายได้เสริมแก่ชาวประมงไทย และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2565) พบว่าสามารถลดขยะจากเศษอวนได้มากถึง 14,000 กิโลกรัม และยังช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลได้อีกด้วย 

        ทั้งนี้ จากสถานการณ์ขยะในทะเล และแนวทางแก้ไขปัญหาขยะกลุ่มนี้ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติหากมีโอกาสแวะเวียนไปในพื้นที่ทะเลของไทยทุกแห่งสามารถร่วมกันลดขยะจากมือเราได้โดยเน้นใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่ทิ้งขยะลงทะเล หากพบขยะสามารถช่วยจัดเก็บกลับเข้าฝั่ง
เพื่อร่วมกันอนุรักษ์รักษาท้องทะเลไทยให้ปลอดขยะทุกชนิด และคงความสวยงามตลอดไป

ที่มา: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เบอร์โทรศัพท์: +66 2 278 8500


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,249,162