สารปรอท มักถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ หลอดไอปรอท หลอดฟลูออเรสเซนต์ สารเคลือบกระจก วัสดุอุดฟัน แบตเตอรี่ และเครื่องสำอาง แม้จะเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ แต่สารปรอทก็มีพิษภัยสามารถก่อโรคมินามาตะ เพราะสมองถูกทำลาย เริ่มแรกมีอาการชา
ที่มือและเท้า จากนั้นจึงลามขึ้นไปถึงแขน ขา และริมฝีปาก ต่อมาม่านตาหรี่เล็กลง จิตใจรู้สึกหงุดหงิด พูดช้าและไม่เป็นภาษา ฟังไม่ได้ยิน การใช้มือ เท้า และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ไม่สัมพันธ์กันจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
จากภาวะนี้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประกาศให้ "อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury)" มีผลบังคับใช้มาได้กว่า 3 ปี (ปี 2562) แล้วที่บังคับให้กว่า 128 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนามซึ่งไทยเป็นประเทศลำดับที่ 66 ของโลก ที่มีการบังคับใช้ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้สารปรอทมาตั้งแต่ปี 2560 (ค.ศ.2017) เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ดังกล่าว
สำหรับอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทมีข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบุคลังปรอท แหล่งอุปทานปรอทที่มีการสะสมปรอทปริมาณมาก
การห้ามค้าปรอท ยกเว้นเฉพาะวัตถุประสงค์การใช้ที่ได้รับอนุญาตจากอนุสัญญาฯ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเลิก (Phase-out) การผลิต นำเข้า และส่งออก ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทตามภาคผนวก A ภายในปี 2020 (ปี 2563) ที่ผ่านมา อาทิ แบตเตอร์รี่ สวิตช์ไฟฟ้า กลุ่มหลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดไอปรอทความดันสูง เครื่องสำอาง สบู่และครีมผิวขาว สารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อ และเครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลดการใช้ (Phase-down) อะมัลกัมที่ใช้ทางทันตกรรม โดยในบางประเทศเริ่มดำเนินการตามข้อกำหนดนี้
ส่วนประเทศในรัฐภาคีใดที่ยังไม่พร้อมดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ได้ให้สิทธิแก่รัฐจดทะเบียนขอยกเว้นข้อกำหนดการยกเลิก (Phase-out) โดยมีอายุเลื่อนได้ 5 ปี จำนวน 2 ครั้ง แต่หลังจากปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะไม่อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า และส่งออก ผลิตภัณฑ์มีสารปรอทภายใต้อนุสัญญาฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ไทยจะร่วมลงนามตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ประเทศไทย จัดให้ปรอทเป็นวัตถุอันตรายในกลุ่มวัตถุมีพิษ
โดยสารปรอท และสารประกอบปรอท มีการควบคุมเป็นทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (การผลิตนำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต) และวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย
พ.ศ. 2538 รวมทั้งยังกำหนดหลักเกณฑ์การระบายอากาศออกจากโรงงาน การระบายน้ำเสียในแหล่งดินและน้ำใต้ดิน รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการกำหนด
ค่ามาตรฐานการปนเปื้อนของปรอททั้งในอาหาร และเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางด้วย
ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เบอร์โทรศัพท์: +66-2590-4000