ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับมาตรการแก้ไขของไทยที่ผู้ผลิตควรรู้ สกัดการทำผิดกฎหมาย

         "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หรือ Electronic Waste (E-Waste) เป็นปัญหาที่หลายคนยังมองข้าม เพราะเป็นสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรา เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง โดยเมื่อเสื่อมสภาพแล้วหลายคนไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธีเกิด เป็นปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของไทย โดยเมื่อปี 2564 พบขยะกลุ่มนี้ 435,187 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65 ของของเสียอันตรายทั้งหมด และมีการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 20

ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ เพื่อรอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่าซึ่งมีวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยได้ เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสารอันตราย เช่น โลหะหนัก เมื่อนำไปฝังกลบ
สารเคมีจะปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดินสารพิษจะไหลเข้าสู่ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
เช่น ความเป็นพิษของตะกั่วจะมีผลทำลายระบบประสาท ระบบโลหิต การทำงานของไต ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น หากนำไปเผาก็จะเกิดกลิ่นเหม็น
และเกิดสารมลพิษทางอากาศต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารไดออกซิน และฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

สำหรับแนวทางแก้ไข รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งการระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซิล การผลักดันให้นำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกในกรณีที่พบการสำแดงเท็จ พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกกำหนดเงินประกันกรณีเกิดความเสียหายจากการสำแดงเท็จ หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ โรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษ ผู้กระทำความผิด และยังต้องมีระบบกำกับการขนส่งจากเรือไปโรงงานด้วย

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษได้เสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….  สาระสำคัญเป็นการกำหนดบทบาท และหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้นําเข้า ผู้ขาย ผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงงานรีไซเคิลในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่จะมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ลดการใช้สารอันตราย และสนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมาช่วยจัดระบบเรียกคืน (Take-back System) ขยะบรรจุภัณฑ์ หรือซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะ และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ รวมไปถึงหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องส่งคืนขยะบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วไปยังจุดที่ผู้ผลิตจัดไว้ให้

ที่มา: ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับมาตรการแก้ไขของไทยที่ผู้ผลิตควรรู้ สกัดการทำผิดกฎหมาย(สผ.)
เบอร์โทรศัพท์: +66 2265 6689


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,162