อินเดียเตรียมดึงธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยร่วมลงทุน

     ทูตอินเดียเดินสายชวนนักธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยลงทุนด้าน “เภสัชภัณฑ์ – แปรรูปอาหาร – เกษตร - ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง” ด้านหอการค้า-สภาอุตสาหกรรมอุดรฯ เผยศักยภาพเมืองอุดร เหมาะที่นักธุรกิจอินเดียจะเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน 

     สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนา “โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินเดีย” ที่จังหวัดอุดรธานี เชิญชวนนักธุรกิจจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไปทำธุรกิจ และร่วมลงทุนในประเทศอินเดีย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยยังไม่เข้าไปลงทุน โดยรัฐบาลอินเดียมีมาตรการผ่อนปรนเพดานการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เกือบทุกภาคอุตสาหกรรม อาทิ ก่อสร้าง ธนาคาร รถไฟ การค้าปลีก สนามบิน ฯลฯ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านการค้าปลีก และบริการออนไลน์ และการค้าปลีกแบบแบรนด์เดียวผ่านช่องทางอัตโนมัติ 

     ด้านการค้าทวิภาคีระหว่างอินเดีย และไทยเติบโต มีมูลค่าถึง 17.7 พันล้านดอลลาร์ โดยเมื่อปี2022 การลงทุนทวิภาคีเติบโตอย่างมาก มีหลายบริษัทของไทยเข้าไปลงทุนที่อินเดีย และหลายบริษัทของอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการค้าและการลงทุน

     ทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ ได้แก่ สินค้าวิศวกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์อินทรีย์และอนินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ทางทะเล

     ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพที่จะดำเนินความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ ไอที และ ITES ฟินเทค เทคโนโลยีสำหรับอนาคต เช่น วิทยาการหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์  โดยไทยถือเป็นจุดหมายการค้า ขนาดใหญ่อันดับ 5 ในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับจังหวัดอุดรธานี ที่มีศักยภาพโดดเด่น ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางภาคอีสานตอนบน มีระบบการขนส่ง และโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการค้าชายแดน และยังอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ส่งผลให้อุดรธานีกลายเป็นฮับการขนส่ง – โลจิสติกส์ ของภูมิภาค มีแรงงานที่มีการศึกษา และมีทักษะ มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง อุดรธานีจึงเป็นจังหวัดที่เหมาะสำหรับนักธุรกิจอินเดียที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุน และขยายธุรกิจเช่นกัน  

ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
แหล่งที่มา : กรมโยธาธิการและผังเมือง  
เบอร์ติดต่อ :  0 2201 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,729