หลักเกณฑ์ และวิธีการขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร หรือขอยกเว้นภาษีอากร สำหรับสิ่งของนำเข้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ

     หากสิ่งของนำเข้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ที่ไม่เป็นของต้องห้ามต้องจำกัด มูลค่ารวมกันไม่เกิน 40,000 บาท เราสามารถใช้สิทธิการโต้แย้งการประเมินภาษีอากรได้ โดยสามารถ ยื่นต่อที่ทำการไปรษณีย์ที่ไปติดต่อรับของ และยังไม่ต้องชำระค่าภาษีอากรแต่อย่างใด เพื่อให้ที่ทำการไปรษณีย์ส่งหีบห่อของที่ขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร พร้อมคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์เพื่อพิจารณาต่อไป

หลักเกณฑ์การขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากรและยกเว้นอากร มีดังนี้

  1. ผู้มีชื่อรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ตามใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เมื่อได้รับใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินภาษีอากรที่เจ้าหน้าที่ประเมินฯ ไว้ มีสิทธิโต้แย้งการประเมินฯ ดังกล่าวได้
  2. ให้ผู้รับทำคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร พร้อมใบแจ้งให้รับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ยื่นต่อที่ทำการไปรษณีย์ปลายทาง หรือยื่นต่อผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ และสำเนาแจ้งที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางทราบ
  3. ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางจะส่งหีบห่อที่ขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร พร้อมทั้งคำร้องขอโต้แย้งการประเมินภาษีอากร และใบแจ้งให้ไปรับของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ให้กับส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์พิจารณา
  4. ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ แจ้งผลการพิจารณาให้ที่ทำการไปรษณีย์ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อแจ้งผู้รับต่อไป
  5. กรณีให้ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าภาษีอากรที่ประเมินไว้ พนักงานศุลกากรผู้พิจารณาข้อโต้แย้ง จะแก้ไขจำนวนเงินค่าภาษีอากรในใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแก้ไขข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์และบนตัวหีบห่อสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ให้ตรงกัน และลงชื่อกำกับการแก้ไข แล้วส่งคืนให้ที่ทำการไปรษณีย์ที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำจ่ายผู้รับต่อไป
  6. กรณีผู้รับซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะนำหลักฐานไปเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องทำคำร้องพร้อมใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ยื่นต่อที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางทราบเพื่อส่งของคืนมาปฏิบัติพิธีการที่ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี

 

ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566

แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,381